หน้าแรก I ติดต่อบางกอกฟอรั่ม I เกี่ยวกับบางกอกฟอรั่ม I  English version   I  Webboard บางกอก
เข้าสู่บอร์ดเรื่องเล่ากระบวนการกองทุนสุขภาวะ
เรื่องเล่ากระบวนการกองทุน
หน้าที่ 1 I 2 I 3 I 4 I 5 I 6

 

บทสังเคราะห์จากการทำงาน

1)  กลไกเชื่อมประสาน 3 ภาคส่วนอย่างบูรณาการ ถือเป็นการยกระดับฐานคิดในการพัฒนาสังคมไทย โดยเฉพาะหลักการเชื่อมประสานโดยมี “ พื้นที่เป็นตัวตั้ง ” ท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการจัดการตนเองผ่านกลไกเชื่อมประสาน ซึ่งกลไกดังกล่าวเป็นปัจจัยที่สำคัญของท้องถิ่นในการสร้างสมดุลแห่งการพัฒนาบนฐานของการมีส่วนร่วม

2)  กรุงเทพ ฯ เป็นเมืองใหญ่ที่มีขนาดพื้นที่มากถึง 1,568.737 ตารางกิโลเมตร (50 เขตการปกครอง ) ดังนั้น การเริ่มจากการค้นหาพื้นที่ที่มีความเหมาะสมเพื่อให้สามารถมองเห็นทุนทางสังคมได้อย่างชัดเจน ถือเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเพราะการเริ่มต้นด้วยพื้นที่เล็กแต่มีขอบเขตพื้นที่ที่มีบริบทร่วมกันที่ชัดเจนจะนำไปสู่การกำหนดรูปแบบความเป็น “ กองทุนสุขภาวะกรุงเทพ ” หรือ “ มูลนิธิชุมชน ” ในภาพรวมได้เป็นอย่างดี ( Small is beautiful) เพราะคนที่อยู่ในพื้นที่หรือบริบทแห่งประเด็นร่วม ( ภายใต้พื้นที่เดียวกัน ) จะมีแนวโน้มที่จะแบ่งปันความช่วยเหลือได้ง่ายและมากกว่าคนที่อยู่ในพื้นที่ บริบท หรือความเป็นเครือข่ายอื่นที่แตกต่างออกไป

3)  ด้วยความที่กรุงเทพ ฯ มีหลากหลายของกลุ่มคน มีทั้งกลุ่มคนที่สนใจในเชิงประเด็น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง และอยู่ใจกลางเมือง และกลุ่มคนที่ยังรู้สึกถึงความเป็นคนในพื้นที่ ส่วนใหญ่อยู่บริเวณกรุงเทพรอบนอก ซึ่งจากความหลากหลายนี้เองจึงต้องต้องเน้นให้ผู้คนมีส่วนร่วม และเห็นคุณค่าร่วมระหว่างกัน ซึ่งการเห็นคุณค่าร่วมจะนำไปสู่การเกิดพลังแห่งนวัตกรรมใหม่ ที่ไม่ใช่การจัดการที่แข็งตัวด้วยวิธีการสั่งการ (Command and Order) ตามสายบังคับบัญชา แต่นำไปสู่การจัดการตนเองและการสร้างวิธีคิดหรือสร้างความหมายใหม่ที่เอื้อให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับกระบวนการพัฒนากรุงเทพให้มากขึ้น

4)  รูปแบบ (Model Development) การจัดการกองทุนสุขภาวะกรุงเทพที่เหมาะสมกับบริบทสังคมกรุงเทพฯ คือรูปแบบของ “ ภาคีเครือข่ายพันธมิตรร่วมพัฒนา ” (Star Alliance Model Development) อันประกอบด้วยกลไก 2 ระดับ คือ กลไกเชื่อมประสานส่วนกลาง ( แม่ข่ายดาวเทียม ) Bangkok Community Fund / Foundation Alliance ( BCF) หรือเรียกว่า “ กองทุนสุขภาวะกรุงเทพ ” และ “ กองทุนสุขภาวะในพื้นที่ ( เขต )” Local Community Fund / Foundation Alliance ( LF) โดยในแต่ละเครือข่ายมีอิสระในการบริหารจัดการและ / หรือระดมทุนและกระจายทุนให้กับพื้นที่ตนเอง ขณะเดียวกันก็ช่วยระดมและกระจายทรัพยากรให้กับกลไกกลางที่จะช่วยทำหน้าที่ในการสนับสนุนทางด้านวิชาการ การช่วยเหลือด้านการบริหารจัดการ และคำแนะนำด้านต่าง ๆ รวมทั้งข้อตกลงอื่น ๆ ซึ่งแล้วแต่กรณี เช่น การช่วยจัดระบบการเชื่อมประสานเครือข่ายอาสาสมัครรักกรุงเทพ เป็นต้น ซึ่งรูปลักษณะดังกล่าวจะนำไปสู่การพัฒนาเป็นกลไกสร้างสุขภาวะให้ชาวกรุงเทพ

5)  กระบวนการก่อเกิด “ มูลนิธิชุมชน ” หรือ “ กองทุนสุขภาวะ ” ในสังคมไทยมีความแตกต่างจากบริบทประเทศอื่น ๆ อยู่พอสมควร โดยเฉพาะประเทศตะวันตกที่เกิดขึ้นมาเนื่องจากปัจจัยเรื่องของทรัพยากรเงิน แต่ขณะที่สังคมไทยกลับเกิดขึ้นจากวัฒนธรรมดั้งเดิมของคนไทยอยู่แล้ว ในเรื่องของความเอื้อเฟื้อความมีน้ำใจ ซึ่งจะอยู่ในส่วนของ “ ทุนทางสังคม ” มากกว่าทุนทรัพยากรเงิน ดังนั้น เราจึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนากลไกกองทุนสุขภาวะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเครือข่ายจิตอาสาด้วย อย่างไรก็ดี มิได้หมายความว่าทุนเงินไม่สำคัญ แต่ในตอนเริ่มต้นกระบวนการควรให้ความสำคัญกับทุนทางสังคมมากกว่า โดยเฉพาะในบริบทของการใช้ประเด็นเรื่องการพัฒนาเมืองน่าอยู่ ที่ควรเริ่มจากสายสัมพันธ์ของผู้คนที่มีจิตสาธารณะมากกว่าการเริ่มด้วยการเน้นการระดมทุนเพื่อการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพของเมือง ทั้งนี้การเริ่มด้วยคนที่มีจิตอาสาจะนำไปสู่ความยั่งยืนมากกว่า

กล่าวโดยรวม กระบวนการพัฒนา “ กองทุนสุขภาวะ ” โดยแท้จริงแล้วสามารถนำไปสู่การสร้างวิถีในการอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการสร้าง “ ระบบภูมิคุ้มกัน ” ให้ทั้งกับตนเอง ครอบครัว ชุมชน องค์กรและสังคม และมีความสอดคล้องกับหลักการ เศรษฐกิจพอเพียงตามกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลักการ (1) ความพอประมาณ (2) ความมีเหตุผล (3) ความมีภูมิคุ้มกัน (4) การใช้ความรู้ และ (5) ความมีคุณธรรม

คุณ.......ก็เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างกรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองแห่งรอยยิ้มและความสุขบนวิถีเศรษฐกิจพอเพียงได้

การร่วมสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่มีความสุข ประชาชนชาวกรุงเทพฯ มีสุขภาวะที่ดีนั้น เป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถร่วมทำได้ด้วยการเป็นผู้ให้ ไม่เฉพาะแค่ชาวเขตทวีวัฒนา เขตจอมทอง เขตพระนคร หรือเขตหนองจอกเท่านั้น เพราะไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เขตใดในกรุงเทพฯ ก็ตาม ก็ถือเป็น ” บ้าน ” ของเราทุกคน เมื่อสิ่งแวดล้อมดี น้ำใส มลพิษน้อยลง คนมีน้ำใจต่อกันมากขึ้น รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และความสุขก็จะเกิดขึ้นตามมา

คุณสามารถเป็นส่วนหนึ่งได้ด้วยการ “ ให้ ” อาทิ ให้ความรู้ เข้าร่วมเป็นอาสาสมัคร ให้สิ่งของที่จำเป็น หรือบริจาคเงินเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ผ่าน “ กองทุนสุขภาวะในระดับเขต ” โดยคุณสามารถเลือกที่จะ “ ให้ ” ตาม “ เมนูเรียกยิ้ม ” ที่คุณสนใจ โดยมีกลไกคณะกรรมการภายในเขตนั้น ๆ เป็นผู้บริหารจัดการเพื่อให้ “ การให้ ” ของคุณมีคุณค่า และสามารถสร้างสุขภาวะให้กับชาวกรุงเทพฯ ได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้จากการเริ่มดำเนินการใน 4 เขตนำร่องที่ผ่านมา ทุกเขตได้สะท้อนในทิศทางเดียวกันว่า “ รอยยิ้ม ” และ ” ความสุขแบบพอเพียง ” จะเกิดขึ้นได้ เราต้องร่วม “ ให้ ” และ “ สร้าง ” เพื่อเราทุกคนจะได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เป็นความสุขที่ไม่จำเป็นต้องมาจากการร่ำรวยมีเงินทอง มีวัตถุต่าง ๆ มากมาย แต่เป็นความสุขที่รู้สึกได้จากใจ เป็นความสุขแบบพอเพียงที่ทุกคนสามารถมีได้อย่างง่าย ๆ ดังตัวอย่าง ชาวทวีวัฒนา และชาวหนองจอกที่พูดถึงความสุขด้วยการร่วมคิด ร่วมดำเนินการ ว่าจะทำอย่างไรที่จะให้ “ คลองสวย น้ำใส ” (หนึ่งในเมนูเรียกยิ้ม) กลับคืนมา

นี่เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เราทุกคนที่รักกรุงเทพฯ สามารถมีรอยยิ้มและความสุขแบบพอเพียงร่วมกันได้ แล้วคุณล่ะ..พร้อมที่จะคืนรอยยิ้มให้กับกรุงเทพฯ หรือยัง

ขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โครงการสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนสุขภาวะกรุงเทพ บางกอกฟอรั่ม โทรศัพท์ 02-6222316 โทรสาร 02-2281362 หรือ www.bangkokforum.net
Copyright@ 2006 Bangkok Forum
บางกอกฟอรั่ม เลขที่ 104, 106 ถ.แพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทร. 02-228-1362-3 โทรสาร 02-228-1362 หรือ www.bangkokforum.net หรือ [email protected]