หน้าแรก I ติดต่อบางกอกฟอรั่ม I เกี่ยวกับบางกอกฟอรั่ม I  English version   I  Webboard บางกอก
เข้าสู่บอร์ดเรื่องเล่ากระบวนการกองทุนสุขภาวะ
เรื่องเล่ากระบวนการกองทุน
หน้าที่ 1 I 2 I 3 I 4 I 5 I 6

 

6. กลไกคณะกรรมการ “ มูลนิธิชุมชน” หรือ “ กองทุนสุขภาวะ”

จากการร่วมดำเนินการทำแผนที่ทุนทางสังคม ทำให้ได้กลไกคณะกรรมการ “ มูลนิธิชุมชน” หรือ “ กองทุนสุขภาวะ” ในช่วงเริ่มต้นดำเนินงาน จะไม่เน้นการจัดตั้งเชิงโครงสร้าง (กลไกของคณะกรรมการ) เพราะการจะเป็นพายุลูกใหญ่ได้นั้น ต้องเริ่มจากลมหมุนลูกเล็ก ๆ ขึ้นมาก่อน

สำหรับ ลักษณะของคณะกรรมการนั้น พวกเราพบว่าผู้ที่จะก้าวเข้ามาสู่กลไก “ มูลนิธิชุมชน” หรือ “ กองทุนสุขภาวะ” ต้องเป็นผู้ที่มีจิตอาสาและมีความต้องการอยากจะพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น ของตนเองจริง ๆ ดังนั้น คณะกรรมการต้องมีวิสัยทัศน์ มีความสามารถ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงการเรียนรู้ได้จริง ๆ ไม่ใช่ผู้นำที่ต้องการสร้างบารมีให้กับตนเองเพราะจะไม่สามารถทำให้เกิดความศรัทธา และเกิดการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนอื่น ๆ

กระบวนการในการค้นหาแกนนำจึงมีความสำคัญมาก ดังตัวอย่างกลไก “ คณะกรรมการชมรมรักถิ่นเขตทวีวัฒนา” ที่มีคณะกรรมการ 2 ระดับ คือ คณะกรรมการอำนวยการ (หรือคณะกรรมการแกนที่มีศักยภาพสูง รู้แหล่งทรัพยากร มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีในการเชื่อมประสานทรัพยากร) และคณะกรรมการบริหาร (หรือได้กลายเป็น “ คณะทำงาน” ในเวลาต่อมา) การบริหารงานของคณะกรรมการเหล่านี้ โดยเฉพาะคณะทำงานของ “ ชมรม” กล่าวได้ว่าแกนนำที่เข้ามามีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้สูง ทั้ง ๆ ที่หลาย ๆ ท่านจะมีอายุมากแล้วก็ตาม และมักจะสร้างเครือข่ายเพิ่มเติมโดยการใช้ความสัมพันธ์แบบเพื่อนกับเพื่อน (Friend to Friend) ในการทำงานด้วยกันทั้ง ๆ ที่คณะทำงานบางท่าน จากที่เคยอยู่คนละฝากฝั่งคลอง ไม่ค่อยได้พบกัน หลังจากการเข้าร่วมเป็นคณะทำงาน “ ชมรม ฯ” กลายเป็นว่าบุคคลเหล่านี้ กลายเป็นเพื่อนคู่คิดและเพื่อนคุยกันฉันท์มิตรไปโดยปริยาย นอกจากนั้น คณะทำงาน “ ชมรมฯ” ยังมีความเป็น Dynamic Management คือ มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของงานได้ตามสถานการณ์ที่เหมาะสม มีความพยายามใช้ความรู้ในการทำงาน พยายามศึกษาบทเรียนจากการทำงานที่ผ่านมา และผลตอบกลับ (feed back) ทุกครั้ง เพื่อนำมาวางแผนงาน นอกจากนี้คณะทำงานฯ ยังเห็นพลังความสำคัญของเยาวชน จึงให้เยาวชนเป็นส่วนหนึ่งของ “ คณะกรรมการชมรมรักถิ่นเขตทวีวัฒนา ” อีกด้วย

7 . รูปแบบองค์กร

สำหรับรูปแบบของ “ กลไก ” การเชื่อมประสานนั้นสามารถดำเนินการได้หลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับการตกลงของคนในพื้นที่ ดังกรณีที่แกนนำเขตทวีวัฒนาและหนองจอก หลาย ๆ ท่านบอกกับพวกเราว่า การจะดำเนินการจัดตั้งกลไกการขับเคลื่อน ควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะในปัจจุบัน มีหน่วยงานหลาย ๆ หน่วยงานเข้ามาส่งเสริมให้เกิดการจัดตั้งกลุ่ม องค์กร เครือข่ายต่างๆ มากมาย สามารถดูได้จากผู้นำกลุ่มต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีหลายตำแหน่งภายในคนคนเดียวกัน ดังนั้น กลไกใหม่นี้น่าจะต้องเน้นน้ำหนักที่การเชื่อมประสานเพื่อให้เห็นความสำคัญของการมาทำงานร่วมกันของคนในพื้นที่ และเพื่อพื้นที่เป็นหลักเสียก่อน ยังไม่ต้องคิดถึงรูปแบบขององค์กรหรือการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิก่อน เช่น อาจรวมตัวกันหลวม ๆ เป็น ชมรมรักถิ่นทวีวัฒนา และหากจะทำเรื่องอะไรต่อก็ค่อยมาพยายามคิดกันมาก ๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องลงทุนมากแต่ต้องส่งผลสะเทือนมาก ๆ เพราะหัวใจของ “ มูลนิธิชุมชน ” หรือ “ กองทุนสุขภาวะ ” คือ การสร้างความเชื่อถือให้คนในพื้นที่ได้เห็นผลงาน เกิดความเชื่อถือ และอยากเข้ามาให้ความร่วมมือช่วยเหลือ

8 . พูดคุยอย่างต่อเนื่องเพื่อเรียนรู้ร่วม และเกิดกำลังใจ

ปัจจัยหนึ่งของความสำเร็จ คือ การพูดคุยอย่างต่อเนื่องทั้งในลักษณะที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยเฉพาะวงที่ไม่เป็นทางการ เพราะถูกโฉลกนิสัยของคนไทยที่ชอบสังสรรค์ สนุกสนาน และเฮฮา

ในช่วงต้น ๆ เวลาเชิญประชุมมักต้องมีจดหมายเชิญหรือวาระการประชุมที่ต้องแนบไปทุกครั้ง แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป กอร์ปกับการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่องของระหว่างคณะทำงานบางกอกฟอรั่มและคณะทำงาน “ ชมรม ฯ” และการเข้าร่วมกิจกรรมกับแกนนำเขตทวีวัฒนา หรือเขตหนองจอก อย่างสม่ำเสมอ จึงทำให้ในช่วงต่อมาของการดำเนินงาน จึงสามารถใช้วิธีบอกแบบปากต่อปาก และช่วยกันเป็นธุระในการแจ้งข่าวต่อได้ รวมทั้งไม่จำเป็นมีวาระการประชุมที่เป็นทางการ แต่ก็ได้สาระของการมาพบกันในแต่ละครั้งอย่างครบถ้วน

นอกจากนั้น “ การดูงาน” ก็เป็นอีกหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญของการสร้างให้เกิด “ กองทุนสุขภาวะ” เนื่องจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่าง “ คนที่ไปดูงาน” กับ “ เจ้าของพื้นที่ดูงาน” ซึ่งทำให้เกิดพลังของการเรียนรู้ร่วมอย่างมาก จนนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดกระบวนการเรียนรู้ “ กองทุนสุขภาวะ” สู่การสร้างระบบการเกื้อกูลร่วมกันของสังคมไทย
Copyright@ 2006 Bangkok Forum
บางกอกฟอรั่ม เลขที่ 104, 106 ถ.แพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทร. 02-228-1362-3 โทรสาร 02-228-1362 หรือ www.bangkokforum.net หรือ [email protected]