บางกอกฟอรั่ม
การรวมตัวของพลเมืองผู้ตื่นรู้ ผู้ตั้งคำถามกับวิถีชีวิตที่เป็นอยู่หรือประเด็นที่จะนำไปสู่การพัฒนาหรือที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และผู้ที่มีจิตอาสาที่ต้องการพัฒนาชุมชนหรือสังคมให้ไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุข
สมาชิกผู้ก่อตั้งบางกอกฟอรั่มได้กล่าวไว้เมื่อปี ๒๕๓๘ ว่า บางกอกฟอรั่มเป็นเสมือน “ ผู้เอื้อเชิงกระบวนการ” ให้เกิดการสนทนาที่มาจากการรวมตัวของกลุ่มคนที่มีจิตอาสามาพบปะพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น หรือสังคม หรือเป็นการสนทนาแบบมนุษย์สัมผัสมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการสนทนาแบบใดก็ตาม เพราะเราเชื่อว่าเมื่อมนุษย์พูดคุยกับมนุษย์ด้วยแววตาและจิตใจที่จริงใจที่พร้อมที่จะเปิดใจพูดและรับฟังอย่างมีสติ เมื่อนั้น ปัญหาต่างๆ ที่ทุกคนกำลังเผชิญอยู่หรือรู้สึกว่าเป็นปัญหาก็จะคลายตัวลง โดยเฉพาะการรวมตัวกันของกลุ่มคนตัวเล็ก ๆ ในการร่วมขับเคลื่อนเพื่อผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ (Public Policy Formulation ) ที่มาจากความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ของสังคม และนโยบายสาธารณะดังกล่าวจะนำไปสู่กระบวนการแก้ไขอย่างสันติวิธีต่อไป
บางกอกฟอรั่มไม่ใช่กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนตามการให้ความหมายแบบเดิม ๆ โดยทั่วไปว่าจะต้องเป็นองค์กรที่อาสามาลงมือปฏิบัติการแทนภาคประชาชน แต่เราเป็น ” หน่วยงานที่เอื้อให้กลุ่มพลเมืองตัวเล็กๆ ที่ตระหนักรู้คุณค่าของชุมชน ท้องถิ่น และสังคม” ได้มาใคร่ครวญร่วมกันผ่านกระบวนการพูดคุยเพื่อให้เกิดการร่วมสร้างพื้นที่ทางสังคมที่เอื้อต่อการมาคิดและปฏิบัติการร่วมกันและชุมชน ท้องถิ่น หรือเครือข่ายนั้น ๆ นำไปปฏิบัติการร่วมกันเพื่อนำไปสู่ชุมชน ท้องถิ่น หรือสังคมที่ดีขึ้น
จุดกำเนิดบางกอกฟอรั่ม
แนวคิดในการเริ่มก่อตั้ง บางกอกฟอรั่ม ปรากฎเป็นเค้าลางนับจากกระบวนการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการของกลุ่มคนอาสาเล็ก ๆ เป็นกลุ่มคนที่มีการศึกษาและสนใจในเรื่องของการพัฒนาบ้านเมืองพวกเขาได้พูดคุยถึงสถานการณ์ของสังคมไทย ก่อนที่จะเกิดวิกฤตการณ์ของสังคมไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ หรือ พฤษภาทมิฬ ”
ประชาชนทั่วไปต่างต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาสังคม ซึ่งไม่เพียงแต่เรื่องของการเมืองเท่านั้นแต่ยังหมายรวมถึงการมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชน สังคม ประชาชน ดังกรณีทางด่วนที่จะพาดผ่านชุมชนบ้านครัวที่มีอายุเก่าแก่มากกว่า ๒๐๐ ปี โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า โครงการสร้างทางด่วนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น
กลุ่มพลเมืองที่ตื่นรู้และสนใจกับความเป็นไปในการพัฒนาบ้านเมือง แต่มิได้ปรารถนากับการไปเป็นตัวแทนประชาชนหรือเป็น สส. ในพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งของกระบวนการทางการเมืองของประเทศ แต่หากต้องการให้ภาคประชาชนมีบทบาทต่อการกำหนดทิศทางร่วมของการพัฒนากรุงเทพ ฯ เฉกเช่น ผู้ก่อตั้งบางกอกฟอรั่ม คือ คุณชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ และ ดร.ปีเตอร์ เทริลป์ ที่เคยได้เข้าไปมีบทบาทในการพัฒนาสังคมประเทศเยอรมันนีด้วยวิถีของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยได้เคยเข้าร่วมกับกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “Buerger initiative” ที่เป็นการรวมตัวขนาดใหญ่ของกลุ่มต่าง ๆ ในประเทศเยอรมันนีเกือบ ๓๐๐ กลุ่ม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะเปิดพื้นที่สาธารณะให้แก่ภาคประชาสังคมของประเทศเยอรมันนี
อาจกล่าวได้ว่าพัฒนาการเหล่านี้เป็นที่มาของร่องรอยความคิดจนได้ก่อกำเนิดเป็น “ บางกอกฟอรั่ม” ในที่สุดเมื่อเดือนเมษายน ปี ๒๕๓๗ ซึ่งมี คุณชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ในฐานะผู้ประสานงานหลักของบางกอกฟอรั่ม และมีกลุ่มสมาชิกที่เปรียบเหมือนกับผู้ร่วมกำหนดทิศทางบางกอกฟอรั่มร่วมด้วยอีก ๑๖ ท่าน กลุ่มเหล่านี้ประกอบด้วย แพทย์ นักวิชาการ นักธุรกิจ ทนายความ และนักหนังสือพิมพ์
หลังจากการดำเนินงานร่วมปีกว่าก็ได้เกิดการขยายตัวของเครือข่ายกลุ่มคนที่มีจิตอาสาร่วม ๒๐๐ ชีวิต ที่รวมตัวกันในนามของสมาชิกบางกอกฟอรั่ม ” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ กลุ่มคนที่มีจิตอาสาหรืออาสาสมัครรักกรุงเทพ ฯ นั่นเอง กลุ่มคนเหล่านี้มาจากหลากหลายอาชีพ อาทิ ผู้สื่อข่าว นักเคลื่อนไหวทางสังคม ครู นักวิชาการ นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ พนักงานบริษัทเอกชน นักธุรกิจ และผู้ประกอบการอิสระ เป็นต้น
ช่วงเวลาดังกล่าวที่กลุ่มคนเหล่านี้ได้เข้าร่วมการสัมมนา การถกปัญหา การตั้งคำถามเกี่ยวกับแนวทางการให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมกับกระบวนการทางการเมืองหรืออีกนัยยะคือ การเมืองภาคประชาชน ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เช่น เยอรมันนี และสวิสเซอร์แลนด์ ที่ได้ให้สาธารณะมามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ โดยในขณะนั้น ประเด็นร่วมของกรุงเทพ ฯ คือ เรื่อง การวางแผนก่อสร้างทางด่วนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาและโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ามหานคร
บางกอกฟอรั่มมิได้เพียงแค่ให้กลุ่มคนจากหลากหลายอาชีพมาพูดคุยกันเท่านั้น แต่ยังได้พยายามให้คนชั้นกลางเข้ามามีส่วนร่วมในการร่วมกำหนดคุณค่าร่วมของการดำเนินวิถีชีวิตตามสไตล์คนรุ่นใหม่ที่ไม่ใช่แค่เพียงผู้ที่นิยมเสพสิ่งต่าง ๆ หรือนักบริโภคนิยมตามกระแสเท่านั้น แต่กลุ่มคนชั้นกลางที่บางกอกฟอรั่มได้เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ด้วยนั้น เป็นกลุ่มคนชั้นกลางที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในวิถีที่ดีกว่า หนึ่งในกิจกรรมของบางกอกฟอรั่มที่ถือได้ว่าเป็นกิจกรรมเพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้เข้ามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคมกรุงเทพ ฯ โดยเฉพาะในส่วนของการดำรงชีวิตในสไตล์คนรุ่นใหม่ที่ฉลาดในการใช้ชีวิตและการบริโภคทรัพยากร คือ โครงการ “ บริโภคอย่างฉลาด : บันเทิงอย่างฉลาด : ความสร้างสรรค์และเครือข่ายวัฒนธรรมทางเลือก” (Smart Consuming, Smart Entertainment : Creative and Alternative Cultural Network) ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นโครงการนำร่องในการสำรวจวิถีการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะคนชั้นกลางเพื่อนำไปสู่การร่วมสร้างวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Environment-friendly) ที่มิใช่การกำหนดทิศทางการพัฒนาธรรมชาติและวัฒนธรรม
บางกอกฟอรั่มดำเนินกิจกรรมที่หลากหลายโดยมีจุดหมายเพื่อผลักดันให้คนกรุงเทพ ฯ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาวิถีชีวิตและเมืองที่อยู่ผ่านกระบวนการระดมความคิดเห็นร่วมกัน กระบวนการร่วมปฏิบัติการที่ใช้เครื่องมืออันหลากหลายเพื่อสร้างกระแสการมีส่วนร่วม อาทิ ด้านศิลปวัฒนธรรม ด้านการสื่อสารสาธารณะ
ซึ่งบางกอกฟอรั่มได้แต่หวังว่ากระบวนการสร้างสรรค์ให้เกิดวัฒนธรรมทางการเมืองในรูปแบบใหม่ที่เอื้อให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมนั้นจะเกิดขึ้นจริงในสังคมกรุงเทพ ฯ ที่เปรียบเหมือนบ้านของเรา เพราะสังคม วัฒนธรรม และวิถีการดำเนินชีวิตของกรุงเทพ ฯ นั้นมีความหลากหลาย ประกอบกับกรุงเทพ ฯ มีพื้นที่กว้างใหญ่มากเกินกำลังของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจะสามารถทำให้กรุงเทพ ฯ น่าอยู่ได้ แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็ได้มีความพยายามร่วมกันว่า กิจกรรมหรืองานใด ๆ ที่เราได้มีส่วนผลักดันให้เกิดกระบวนการคิด กระบวนการลงมือทำ กระบวนการผลักดัน กระบวนการเฝ้าติดตาม หรือกระบวนการใด ๆ ก็ตาม ล้วนแล้วแต่ทำไปด้วยจิตใจแห่งความหวังที่อยากเห็นสังคมกรุงเทพน่าอยู่อย่างยั่งยืน
เป้าหมาย
๑.เป็นหน่วยงานที่เอื้อในการจัดกระบวนการเพื่อให้กลุ่มคนที่มีจิตสาธารณะได้มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสามารถนำไปสู่การร่วมขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะที่มาจากภาคประชาชน ( Public Policy Formulation)
๒.เป็นหน่วยงานเชื่อมประสานทรัพยากรทุนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อร่วมสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีแก่ชาวกรุงเทพ
๓.เป็นหน่วยสนับสนุนให้เกิดการจัดการความรู้เชิงกระบวนการขับเคลื่อนภาคประชาสังคมเพื่อร่วมสร้างวิถีชีวิตเมืองน่าอยู่ให้เกิดขึ้นในกรุงเทพ ฯ อย่างยั่งยืน
๔.สนับสนุนให้เกิดพื้นที่สาธารณะให้แก่คนที่มีจิตอาสาทุกกลุ่ม ทุกวัย ที่พร้อมจะขับเคลื่อนสังคมกรุงเทพให้น่าอยู่
|