“ ความเป็นไปได้ ” กับ “ ความเป็นจริง ” ในการขับเคลื่อน
ข้อค้นพบเชิงนามธรรมข้างต้นถือเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากแก่พวกเราที่ยิ่งจำเป็นต้องพิจารณาไตร่ตรองกระบวนการทำงานขั้นต่อไป จากการศึกษาความเป็นไปได้ดังกล่าวจึงทำให้พวกเราเริ่มกระบวนการทำงานโดยมีรายละเอียดการดำเนินงาน ดังนี้
1. กระบวนการค้นหาประเด็นร่วมของพื้นที่ กรณีศึกษา เขตทวีวัฒนา
คณะทำงานวางยุทธศาสตร์การดำเนินงาน โดยใช้ยุทธศาสตร์การดำเนินงาน “ พื้นที่เป็นตัวตั้ง” ในที่นี้หมายถึงสภาพพื้นที่มีขอบเขตเชิงกายภาพที่ชัดเจน เพื่อให้เข้าใจกระบวนการดำเนินงานในช่วงนี้ได้อย่างไม่ยากนัก จึงขอเล่าเรื่องจากประสบการณ์การทำงานร่วมกับ “ ชมรมรักถิ่นเขตทวีวัฒนา”
พวกเรา เข้าไปในพื้นที่เขตทวีวัฒนาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2548 โดยการประสานความร่วมมือเบื้องต้นกับเครือข่ายชุมชนเขตทวีวัฒนา ที่มีจุดประสานงาน ณ ชุมชนร่วมเกื้อ เขตทวีวัฒนา
พวกเราเริ่มทำความรู้จักและแอบทำความคุ้นเคยกับประธานชุมชนทุกชุมชนในเขตทวีวัฒนา หลังจากนั้นก็ชักชวนจัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมที่ ชุมชนร่วมเกื้ออีกหลายครั้ง เพื่อขยายแนวคิดเรื่อง “ มูลนิธิชุมชน ” หรือ “ กองทุนสุขภาวะ ” พร้อม ชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดของการทำงานพัฒนาและความสำคัญของการมี “ มูลนิธิชุมชน” หรือ “ กองทุนสุขภาวะ ” เช่น ปัจจัยด้านทรัพยากรต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อสภาพคล่องในการทำงาน ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยพวกเราได้ให้พื้นที่ออกแบบรูปลักษณะ และให้ความหมายของ “ มูลนิธิชุมชน” หรือ “ กองทุนสุขภาวะ” ในบริบทของชาวทวีวัฒนา เพื่อให้ “ มูลนิธิชุมชน” หรือ “ กองทุนสุขภาวะ” เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาในเขตทวีวัฒนาอย่างแท้จริง โดยพวกเราได้ช่วยเก็บข้อมูลประเด็นต่างๆ ของเขตทวีวัฒนา ทั้งในรูปแบบของการจัดเวทีเชิงปฎิบัติการ การสัมภาษณ์กลุ่มย่อย และการทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้อง
เหตุผลที่คณะทำงานเริ่มจากการศึกษาสภาพ และบริบทของพื้นที่ก่อนนั้น เนื่องจากสภาพการณ์ดังกล่าวจะนำไปสู่การชวนระดมความคิดเห็นอย่างต่อเนื่องในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความหมาย รูปลักษณะ ของ “ มูลนิธิชุมชน ” หรือ “ กองทุนสุขภาวะ ” ในเขตทวีวัฒนา ” ซึ่งสามารถสรุปภาพรวม วิสัยทัศน์ ได้ดังนี้
1. วิสัยทัศน์ เป็นองค์กรที่ต้องทำหน้าที่ระดมและบริหารทรัพยากรทุนเพื่อให้ชาวทวีวัฒนามีความสุข โดยเชื่อมประสานทรัพยากรระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่ รัฐ ชุมชน และภาคธุรกิจ ภายใต้ความมีอิสระทางความคิดไม่ถูกชี้นำโดยภาคส่วนใด ๆ ให้ความสำคัญกับการยกระดับการศึกษาและอาชีพ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เน้นทางด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษ การอนุรักษ์คลอง โดยที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วมทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานภาพ ปลูกฝังจิตสำนึกคำนึงถึงคุณค่าทางวัฒนธรรม ท้องถิ่นดั้งเดิม เพื่อเป็นมรดกและสืบทอดให้กับเยาวชนรุ่นต่อไป
2. การจัดการ ต้องเป็นการจัดการร่วมของทุกภาคส่วน ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ นักธุรกิจท้องถิ่น ประชาชน ชุมชน วัด โรงเรียน ปราชญ์ชาวบ้าน ต้องเป็นลักษณะของการประสานงาน และระดมทุนกับองค์กรต่าง ๆ ในเขตอย่างเป็นเครือข่าย
3. ด้านกฎเกณฑ์/กฎระเบียบ ควรมีกฎระเบียบที่ชัดเจน มีคณะกรรมการบริหารที่น่าเชื่อถือ และมีผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านต่าง ๆ เช่น ข้าราชการ นักธุรกิจ หรือเยาวชนที่มีใจเพื่อท้องถิ่นเข้าร่วมสนับสนุนการดำเนินงาน
4. การระดมทุน แหล่งทุนควรมาจากการบริจาค การช่วยเหลือของคนในเขตทวีวัฒนา และภาคเอกชนในพื้นที่ หากองค์กรหรือกลไกที่จะเข้ามาช่วยควรเข้ามาช่วยในการเชื่อมประสานทรัพยากรให้ยั่งยืนมาก
2. ทำไมต้อง “ มูลนิธิชุมชน ” หรือ “ กองทุนสุขภาวะ ”
จากข้างต้นที่กล่าวว่า เขตทวีวัฒนามีเป้าหมายที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวเขตทวีวัฒนาให้อยู่เย็นเป็นสุข โดยผ่านกลไกกองทุนสุขภาวะที่กำลังร่วมกันสร้าง ดังนั้น การที่จะทำให้หลาย ๆ ภาคส่วนเข้าใจว่า กลไกดังกล่าวจะทำให้เกิดความอยู่ดีมีสุขของชาวเขตทวีวัฒนาได้อย่างไร จำเป็นต้องใช้ตัวจุดประเด็น ซึ่งก็คือ “ กระบวนการค้นหาประเด็นร่วมของพื้นที่ ” ที่กล่าวถึงแล้วในตอนที่ 1
ในส่วนของ “ กระบวนการค้นหาประเด็นร่วมของพื้นที่ ” ที่ใช้เป็นตัวจุดประกายนั้นยังไม่ยากเท่ากับคำถามที่ว่า ทำไมต้อง “ มูลนิธิชุมชน ” หรือ “ กองทุนสุขภาวะ ” เป็นอย่างอื่นได้หรือไม่ จากประสบการณ์การดำเนินงาน 1 ปีที่ผ่านมา อาจจะยังไม่สามารถให้ความชัดเจนได้มากนัก แต่ก็สามารถกล่าวได้ว่า ที่ผ่านมานั้น ในแต่ละพื้นที่แทบทุกแห่งบนโลกใบนี้ มีรูปแบบการช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่แล้ว และหากจำกัดพื้นที่เฉพาะในบริบทสังคมประเทศไทยก็ยิ่งพบว่า เรามีการเกื้อกูล แบ่งปัน และการช่วยเหลือกันอยู่แล้วผ่านรูปแบบต่าง ๆ เช่น การช่วยเหลือคนทั้ง 8 ประเภทของศาสนาอิสลามผ่านกองทุนซะกาต หรือการช่วยเหลือในบริบทคนทวีวัฒนาในอดีตที่มีพื้นที่ทำการเกษตรอยู่มาก ก็ผ่านการเอาแรงด้านการเกษตร เป็นต้น ซึ่ง “ กองทุนสุขภาวะกรุงเทพ ” และ “ กองทุนสุขภาวะระดับเขต ” จะช่วยเป็นกลไกการรวมตัวของคนที่มีจิตอาสาในกรุงเทพฯ ที่สามารถรวมตัวกันได้หลากหลายรูปแบบ อาทิ “ ชมรม ” “ กลุ่ม ” “ สมาคม ” หรือ “ มูลนิธิ ” แต่มิได้หมายความว่า “ ชมรม ” หรือกลไกเชื่อมประสานเหล่านี้ จะทำหน้าที่บริหารจัดการแทนรัฐ ในทางตรงกันข้าม จะช่วยให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำงานได้ทำงานตรงความต้องการของท้องถิ่นมากขึ้น
“ กองทุนสุขภาวะ ” จะเอื้อให้ประชาชนได้ร่วมบริหารจัดการ ร่วมระดมทุน ร่วมจัดการ ร่วมจัดสรรทุนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ทั้งนี้ทุกภาคส่วนในสังคม ได้แก่ ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ภาครัฐทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น ถือเป็นส่วนสำคัญในการร่วมบริหารจัดการ ร่วมระดมทุน รวมถึงเป็นผู้สนับสนุนทุน โดยสามารถให้มากกว่าทุนที่เป็นตัวเงิน ซึ่งอาจจะเป็นการให้แรงงาน การเข้ามาเป็นอาสาสมัคร และการให้ทรัพยากรอื่น ๆ ตามกำลังความสามารถ
“ กองทุนสุขภาวะ ” สามารถช่วยเหลือสังคมได้มากเป็นพิเศษ เพราะเป็นองค์กรที่มาจากกลไกที่ระดมความพยายาม ระดมทรัพยากร ซึ่งทรัพยากรส่วนใหญ่มาจากคนในชุมชนและสังคมท้องถิ่น โดยทรัพยากรส่วนหนึ่งก็คือ การมีจิตอาสาและเป็นอาสาสมัคร ได้แก่ การให้เวลา ให้ความคิด ให้ความพยายาม และการพึ่งพากันบนฐานของศักยภาพของตนเอง ชุมชน และสังคม ซึ่งแนวคิดดังกล่าวมีความสอดคล้องกับหลักการวิถีเศรษฐกิจพอเพียง กล่าวคือ การสอนให้ทุกคน ทุกครอบครัว ทุกองค์กรอยู่ในโลกปัจจุบันอย่างมีสติ มีปัญญา รู้เท่าทันโลก รับผิดชอบ ทำทุกภารกิจอย่างพอดี พอประมาณ สมเหตุสมผล ไม่โลภเกินพอดี เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง ครอบครัว ชุมชน องค์กร และสังคม
“ กองทุนสุขภาวะ ” ตั้งอยู่บนฐานของ “ วิถีเศรษฐกิจพอเพียง ” โดยแท้ เนื่องจาก “ กองทุนสุขภาวะ ” เน้นการสร้างโอกาสให้ทุกคน ทุกครอบครัว ทุกชุมชน และทุกองค์กรได้มีโอกาสมีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเองตามศักยภาพที่มีอยู่ ซึ่งไม่ได้หมายถึงการพัฒนาที่ต้องใช้เงินในการเพิ่มศักยภาพอย่างเดียว แต่หมายถึงการช่วยกันเชื่อมโยงในทุกมิติเพื่อการเพิ่มศักยภาพในทุกระดับ หรือกล่าวโดยรวมคือ การสร้างระบบเกื้อกูลช่วยเหลือกันและกัน หรือ “ ระบบภูมิคุ้มกันทางสังคม ” ( Social Safety Net) ร่วมกันนั่นเอง
ระบวนการทำงานในช่วงเริ่มต้นนั้นมีความยาก และทำให้เกิดความเหนื่อยล้า ท้อแท้ง่าย เนื่องจาก การพัฒนาที่ผ่านมาของประเทศได้เน้นการพัฒนาในด้านต่าง ๆ อย่างขาดสมดุล เน้นการเพิ่มรายได้ หรือการพัฒนาที่ต้องเห็น “ รูปธรรม ” หรือ “ ต้นแบบ ” ที่รวดเร็วและชัดเจน จึงทำให้การพัฒนาในแนวทางที่เน้นความ “ พอประมาณ ” เน้น “ สมดุล ” จึงกลายเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะการพัฒนาที่มุ่งเน้นให้ ปัจเจก ครอบครัว ชุมชน องค์กร และสังคมเกิดความรัก ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความหวงแหน และเห็นความสำคัญของสังคมท้องถิ่นร่วมกัน จนนำไปสู่ความสามารถในการจัดการ “ ทุน ” ที่มีอยู่อย่างเต็มศักยภาพเพื่อรักษาไว้ให้ยั่งยืน
|