หน้าแรก I ติดต่อบางกอกฟอรั่ม I เกี่ยวกับบางกอกฟอรั่ม I  English version   I  Webboard บางกอก
เข้าสู่บอร์ดเรื่องเล่ากระบวนการกองทุนสุขภาวะ
เรื่องเล่ากระบวนการกองทุน
หน้าที่ 1 I 2 I 3 I 4 I 5 I 6

 

โครงการสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนสุขภาวะกรุงเทพ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส . ) บางกอกฟอรั่ม สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ มูลนิธิมิตรภาพสู่ท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายรวมพลคนรักกรุงเทพฯ มานับตั้งแต่ปี 2548 ในการร่วมขับเคลื่อนให้เกิด “ กองทุนสุขภาวะกรุงเทพ ” และ “ กองทุนสุขภาวะระดับเขต ” ที่เป็นกลไกที่เกิดจากการรวมตัวของทุกภาคส่วนในสังคม ได้แก่ ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ภาครัฐทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น เพื่อเข้ามาช่วยเชื่อมประสานและสนับสนุนให้การทำงานของภาคส่วนต่าง ๆ ดีขึ้น

เนื่องจากกรุงเทพมหานครเป็นเมืองใหญ่ สภาพบริบทของสังคมกรุงเทพฯ มีความแตกต่างและหลากหลาย อาทิ เขตหนองจอก ที่อยู่ทางทิศตะวันออก หรือเขตทวีวัฒนาที่อยู่ด้านทิศตะวันตกของกรุงเทพฯ มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ชนบท ประชาชนส่วนใหญ่ยังประกอบอาชีพเกษตรกรรม ในขณะที่เขตสีลม หรือเขตอื่น ๆ ที่อยู่ใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งมีความเป็นเมืองสูงมาก เป็นพื้นที่ของภาคธุรกิจการค้าที่สำคัญของประเทศ ดังนั้น “ โครงการสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนสุขภาวะกรุงเทพ ” จึงได้ริเริ่มดำเนินการผ่านพื้นที่ระดับเขตนำร่อง 4 เขต ประกอบด้วย เขตทวีวัฒนา เขตหนองจอก เขตจอมทอง และเขตพระนคร

กระบวนการกลั่นความคิด เพื่อริเริ่ม : การศึกษาความเป็นไปได้

นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา กระบวนการพูดคุยเรื่องแนวคิด “ มูลนิธิชุมชน ” (ชื่อโครงการ ฯ ในปี 2548) หรือ “ กองทุนสุขภาวะ ” ได้เริ่มเข้มข้นขึ้นในหมู่พวกเราชาวบางกอกฟอรั่ม ในฐานะของผู้ทำงานที่เริ่มต้นด้วยความกระตือรือร้น เนื่องจากโครงการนี้เป็นสิ่งใหม่ในสังคมไทย มีความเป็นนวัตกรรมสูง อีกทั้งแนวคิด “ มูลนิธิชุมชน ” เป็นแนวคิดที่พัฒนามาจากต่างประเทศที่ได้ริเริ่มดำเนินการในหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศในแถบตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกา มากว่า 100 ปี ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายอย่างสูงในการนำแนวคิดดังกล่าวไปปรับใช้กับสภาพบริบทสังคมกรุงเทพ ฯ ที่มีความหลากหลาย

ช่วงเริ่มโครงการ ฯ ในปี พ.ศ. 2548 โครงการสนับสนุนการก่อตั้งกองทุนสุขภาวะกรุงเทพ ได้ใช้ชื่อว่า “ โครงการวิจัยและพัฒนามูลนิธิชุมชนกรุงเทพ” ภายใต้การบริหารจัดการของโครงการมูลนิธิชุมชน โดยมูลนิธิมิตรภาพสู่ท้องถิ่น สถาบันคีนันแห่งเอเซีย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา บางกอกฟอรั่ม และภาคีเครือข่ายรวมพลคนรักกรุงเทพ ด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

แนวคิด “ มูลนิธิชุมชน ” เป็นแนวคิดที่ถือกำเนิดขึ้นในต่างประเทศ กระบวนการก่อเกิดในแต่ละประเทศนั้น มีความแตกต่างกันโดยขึ้นอยู่กับบริบทของสังคม สภาพพื้นที่ และอีกหลากหลายปัจจัย ดังนั้นคณะทำงานโครงการ ฯ จึงได้วางแผนการดำเนินงานในลักษณะของการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อนำไปสู่การถอดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันท่ามกลางสถานการณ์และบริบทของสังคมไทยในพื้นที่นั้น ๆ เพราะเมื่อสามารถจับตัวแบบการพัฒนา ( Model Development) การก่อเกิดพร้อมการพัฒนาความรู้ในช่วงแรกได้ ก็จะส่งผลทำให้สามารถดำเนินการขยายสู่พื้นที่อื่น ๆ ได้โดยมีข้อจำกัดที่น้อยลง พร้อมกันนี้หากสามารถทำให้เกิดผลเชิงรูปธรรมได้ ย่อมจะสะท้อนถึงความยั่งยืนในอนาคตของแนวคิดมูลนิธิชุมชนในกรุงเทพ ฯ ได้เป็นอย่างดี

พวกเราเริ่มทำงานจากการรวบรวมข้อมูลด้านต่างๆ จากหน่วยราชการ องค์กรพัฒนา ผู้นำชุมชน และ การสำรวจความคิดของปัจเจกชนในพื้นที่ต่าง ๆ ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกเป็นรายบุคคล (in-depth interview) การสนทนากลุ่ม (focus group discussion) รวมถึงการจัดเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการ (work shop) เพื่อระดมและสะท้อนความคิดเห็นของคนอย่างหลากหลาย เพื่อการสังเคราะห์ความคิดหรือการทำ concept ที่ชัดเจนของ “ แนวคิดมูลนิธิชุมชน ” ในบริบทของสังคมกรุงเทพ ฯ

นิยามคำว่า “ ทุน” ของชาวกรุงเทพ ฯ

สิ่งแรกที่เราให้ความสนใจระหว่างการทำงานขับเคลื่อนให้เกิด “ มูลนิธิชุมชน ” หรือ “ กองทุนสุขภาวะ ” คือ การค้นหาความหมายของคำว่า “ ทุน ” ที่จะต้องให้นิยามเองโดยคนในพื้นที่ โดย “ มูลนิธิชุมชน ” หรือ “ กองทุนสุขภาวะ ” จะช่วยเป็นกลไกเชื่อมประสานทรัพยากร ที่เน้นการพึ่งพากันบนฐานของศักยภาพของตนเอง ชุมชน และสังคมอีกช่องทางหนึ่ง ดังนั้น การให้ความหมายในเรื่อง “ ทุน ” จึงต้องมาจากคนในพื้นที่เป็นหลักเพราะ “ คนใน ” ย่อมรู้บริบทต่าง ๆ ได้ดีกว่า “ คนนอก ” เช่น พวกเรา

จากการทำงานในช่วงต้นของพวกเรา พบว่าสิ่งที่เรียกว่า ทุน ของชาวกรุงเทพฯ ไม่ใช่เรื่องเงินเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึง ทุนมนุษย์ ทุนภูมิปัญญา ทุนทางสังคม ทุนสิ่งแวดล้อม ฯลฯ โดย ” ทุนเงิน ” เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ชุมชนสามารถดำเนินกิจกรรมได้ แต่ไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดทางปัญญาของพื้นที่ แนวคิดความเป็นไปได้ในการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิด “ มูลนิธิชุมชน ” หรือ “ กองทุนสุขภาวะ ” ในเบื้องต้น คือ การเชื่อมประสานทรัพยากรในมิติอื่น ๆ ของพื้นที่ด้วย โดยต้องเน้นการเชื่อมประสานทุนทางสังคม การสร้างความไว้วางใจ การสร้างสำนึกร่วม แล้วทรัพยากรประเภทอื่น ๆ ก็จะตามมา

ลักษณะความพร้อมของพื้นที่ที่สามารถดำเนินงานได้บรรลุผล

การเริ่มดำเนินงานในพื้นที่ใดก็ตาม ควรต้องศึกษาระบบความสัมพันธ์ของผู้คนในพื้นที่นั้น ๆ ก่อน โดยอาจเริ่มจากการศึกษาในเรื่องราวที่คนในพื้นที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน หรือมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเป็นชุมชนสูง เช่น ความมีน้ำใจ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความสัมพันธ์ในเครือญาติ ชุมชน และควรจะแกะความสัมพันธ์ดังกล่าวให้ออก

การเริ่มในพื้นที่ชุมชนที่มีประวัติศาสตร์เป็นทุนทางสังคมร่วมกัน จะเริ่มได้ง่ายกว่าพื้นที่ชุมชนที่ขาดมิติความสัมพันธ์ดังกล่าว และหากคนในพื้นที่มีความต้องการเริ่มต้นที่จะขับเคลื่อน “ กองทุนสุขภาวะ ” โดยเน้นกระบวนการเรียนรู้ทางปัญญา ก็ยิ่งจะทำให้ กระบวนการขับเคลื่อน “ กองทุนสุขภาวะ ” มีความยั่งยืน

“ กองทุนสุขภาวะ ” มีความสอดคล้องกับแนวพระราชดำรัส “ เศรษฐกิจพอเพียง ” ที่เน้นการสร้างระบบการเกื้อกูลกันอย่างมีสติ และหากชุมชนนั้น ๆ มีผู้นำหรือแกนนำที่มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาชุมชนหรือสังคม ก็จะยิ่งทำให้การเริ่มงานมีความสำเร็จมากขึ้น และหากเกิด “ มูลนิธิชุมชนกรุงเทพ ” หรือ “ กองทุนสุขภาวะกรุงเทพ ” เป็นรูปธรรม กลไกกลางเหล่านี้ควรต้องเข้ามาทำหน้าที่ เชื่อมประสานให้เกิดการเสริมพลัง (Synergy) ` จากทุกภาคส่วน ให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรทุนในด้านต่างๆ โดยมีพื้นที่เป็นตัวตั้ง เพื่อมุ่งส่งเสริมศักยภาพและความเข้มแข็งของชุมชน

นัยยะเบื้องต้น...บริบทของชาวกรุงเทพ

“ กองทุนสุขภาวะกรุงเทพ ” และ “ กองทุนสุขภาวะระดับเขต ” เป็นกลไกที่เกิดจากการรวมตัวของทุกภาคส่วนในสังคม ได้แก่ ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ภาครัฐทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น เพื่อเข้ามาช่วยเชื่อมประสานและสนับสนุนให้การทำงานของภาคส่วนต่าง ๆ ดีขึ้น จนนำไปสู่การสร้างเสริม “ สุขภาวะ ” ให้ชาวกรุงเทพ ฯ

“ กองทุนสุขภาวะ ” เกิดจากฐานคิดการรวมตัวเป็นองค์กรที่ประชาชนจะได้ร่วมกันบริหารจัดการ ร่วมระดมทุน ร่วมจัดสรรทุน รวมถึงการเป็นผู้สนับสนุนทุน โดยสามารถให้มากกว่าทุนที่เป็นตัวเงิน เช่น อาจจะเป็นการให้แรงงาน การเป็นอาสาสมัคร รวมถึงการให้ทรัพยากรอื่น ๆ ตามกำลังความสามารถ “ กองทุนสุขภาวะ ” ยังเป็นกลไกที่ช่วยให้เกิดการพึ่งพากันบนศักยภาพของตนเอง ชุมชน และสังคม เช่น ธุรกิจในท้องถิ่นหรือผู้ที่มีกำลังทรัพย์มีจิตใจอยากเอื้อเฟื้อแบ่งปัน ก็สามารถสมทบหรือบริจาคตามกำลังของตนเอง รวมทั้งทุกคนในท้องถิ่นนั้นๆ ก็สามารถสมทบทุนได้ เป็นการทำให้เกิดการ “ ทำบุญแบบใหม่ ” คือ การทำบุญเพื่อการพัฒนา และสร้าง “ สุขภาวะ ” ให้แก่ทุกคนในกรุงเทพ ฯ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจพอเพียง คือ การสร้างระบบเกื้อกูลช่วยเหลือกันและกัน หรือ “ ระบบภูมิคุ้มกันทางสังคม ” ( Social Safety Net) เพื่อให้กรุงเทพ ฯ เป็นเมืองแห่งรอยยิ้ม และมีความสุข

 จากเหตุผลดังกล่าว พวกเราจึงได้เลือก เขตทวีวัฒนาและเขตหนองจอก เป็นพื้นที่นำร่องโครงการ ฯ เนื่องจากพื้นที่ทั้งสองแห่งนี้มีลักษณะความพร้อมในการขับเคลื่อนมูลนิธิชุมชน มากกว่าเขตอื่น ๆ และเรามุ่งหวังว่าหากเริ่มด้วยพื้นที่ที่มีความเป็นชุมชนสูงจะสามารถเคลื่อนกระบวนการคนอาสาได้ง่ายกว่าพื้นที่อื่น ๆ ของกรุงเทพ

เขตหนองจอก

ตามเงื่อนไขบริบทของพื้นที่ที่ได้เบื้องต้นผนวกกับจากการสำรวจความคิดเห็นของแกนนำในเขตหนองจอก พบว่าเขตหนองจอกมีความต้องการที่จะพัฒนา “ มูลนิธิชุมชน ” หรือ “ กองทุนสุขภาวะ ” ในมิติของการเป็นองค์กรเชื่อมประสานทรัพยากรที่จะนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้ทางปัญญาร่วมกันของคนในพื้นที่

เขตทวีวัฒนา

แกนนำเขตทวีวัฒนา ที่เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการให้ข้อสะท้อนที่น่าสนใจว่า แท้จริงแล้วพื้นที่แต่ละเขตการปกครองไม่มีเส้นเขตแดน ดังนั้นจึงควรมองในมิติความเชื่อมโยงเป็นองค์รวมของระบบภูมินิเวศที่เชื่อมโยงถึงกัน โดยเฉพาะ “ สายน้ำลำคลองเพื่อชีวิต ” ระบบคูคลองนับว่าเป็นระบบธรรมชาติที่สำคัญมากในสังคมไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่ในอดีตมีการใช้คลองเป็นเส้นทางการคมนาคม จึงทำให้ในกรุงเทพฯมีคูคลองจำนวนมาก โดยเฉพาะในเขตทวีวัฒนาที่เป็นชุมชนรอยต่อระหว่างชุมชนเมืองในกรุงเทพฯและชุมชนต่างจังหวัด ได้แก่ จังหวัด นครปฐม จึงทำให้ชุมชนให้ความสำคัญกับคลอง เนื่องจากปัจจุบัน บ้านจัดสรร โรงงานบางแห่ง ร้านอาหารที่เกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ไม่มีระบบกำจัดน้ำเสีย จึงปล่อยน้ำที่ยังไม่ได้บำบัดลงคลอง ส่งผลกระทบต่อทั้งคุณภาพน้ำและชีวิตของผู้คนในพื้นที่กรุงเทพ ฯ อีกทั้งในปัจจุบัน เรามีปัญหาเรื่องน้ำท่วม จึงมีความเป็นไปได้ว่า หากรื้อฟื้นระบบคูคลองขึ้นมา และมีการขุดลอก บำรุง ดูแลอยู่ตลอด ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาเรื่องน้ำท่วมได้ในอนาคต

กองทุนสุขภาวะ หรือ มูลนิธิชุมชนของชาวเขตทวีวัฒนา จึงควรเป็นไปในลักษณะของกลไกเชื่อมประสานทรัพยากรเพื่อให้เกิดการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวเขตทวีวัฒนา เพื่อนำไปสู่ความอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน

 

Copyright@ 2006 Bangkok Forum
บางกอกฟอรั่ม เลขที่ 104, 106 ถ.แพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทร. 02-228-1362-3 โทรสาร 02-228-1362 หรือ www.bangkokforum.net หรือ [email protected]