หน้าแรก I ติดต่อบางกอกฟอรั่ม I เกี่ยวกับบางกอกฟอรั่ม I  English version   I  Webboard บางกอก
เข้าสู่บอร์ดเรื่องเล่ากระบวนการกองทุนสุขภาวะ
เรื่องเล่ากระบวนการกองทุน
หน้าที่ 1 I 2 I 3 I 4 I 5 I 6

 

4. การทำแผนที่ทางสังคม (Social Mapping) ผ่าน โครงการเชิงยุทธศาสตร์ของพื้นที่

กล่าวได้ว่า การดำเนินโครงการใด ๆ ก็ตาม การค้นหาทุนทางสังคมของพื้นที่ มีความสำคัญมากในฐานะที่ทุนทางสังคมเปรียบเสมือนเข็มทิศในการวางตำแหน่งของโครงการ ฯ ได้อย่างถูกจังหวะและโอกาส รวมทั้งเป็นเหมือนการช่วยทำให้เป้าหมายของโครงการ ฯ มีความชัดเจนมากขึ้น

กระบวนการในการทำแผนที่ทุนทางสังคมตั้งอยู่บนหลักการค้นหา “ ทุน ” ผ่านความสัมพันธ์ของผู้คน และค่อยนำไปวิเคราะห์เพื่อแกะรูปแบบความสัมพันธ์ โดย เริ่มจากการพูดคุยกับแกนนำอย่างไม่เป็นทางการ และใช้การ Snow Ball ความสัมพันธ์ในพื้นที่ไปเรื่อย ๆ โดยเรามีตัวช่วยคือ การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการค้นหาประเด็นร่วม การทำโครงการเชิงยุทธศาสตร์ของพื้นที่ การสังเคราะห์แผนยุทธศาสตร์ของพื้นที่ เป็นต้น

ตัวช่วยที่หลากหลายดังกล่าวล้วนแล้วแต่เป็นกระบวนการด้วยการ Scan and Screen ทุนทางสังคม กล่าวโดยรวมแล้วต้องบอกว่า พวกเราโชคดีที่พบแกนนำที่มีศักยภาพที่หลากหลาย (Potential Champions) อาทิ แกนนำในเขตทวีวัฒนา ที่หลาย ๆ ท่านสามารถเป็นตัวต่อเชื่อมทุนทางสังคมอื่น ๆ ได้เกือบครบภาพรวมของเขตทวีวัฒนา อาทิ ผู้นำบารมีในพื้นที่ อาสาสมัคร เยาวชน นักธุรกิจที่มีใจเพื่อท้องถิ่น ผู้มีความรู้ภูมิปัญญาต่าง ๆ รวมทั้งส่วนราชการท้องถิ่น ฯลฯ

กล่าวโดยสรุปการทำโครงการเชิงยุทธศาสตร์ของพื้นที่ เป็นช่วงเวลาที่พบ ทุนทางสังคม (social capital) ที่เป็นรูปธรรม และเปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทราบถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงของทุนทางสังคมในภาพรวมของพื้นที่ได้เกือบทั้งหมด (ในช่วงเวลานั้นๆ ของพื้นที่) การทำแผนที่ทุนทางสังคมยังช่วยเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการเพิ่มศักยภาพให้แก่ “ มูลนิธิชุมชน ” หรือ “ กองทุนสุขภาวะ ” ในการกำหนดยุทธศาสตร์ โดยรวมของพื้นที่เพื่อการเชื่อมประสาน ระดม กระจาย และบริหารจัดการทรัพยากรทุน

5. การระดมทุนผ่าน โครงการเชิงยุทธศาสตร์ของพื้นที่

หลังจากที่ได้ “ โครงการเชิงยุทธศาสตร์ของพื้นที่ ” แล้วจึงได้ทดลองนำไประดมทุน ซึ่งการระดมทุนครั้งนี้ เน้นความร่วมมือ การมีส่วนร่วม ความเชื่อถือ และสำนึกรักท้องถิ่น มากกว่าการจะได้ทรัพยากร “ เงิน ” ก่อน (ในระยะแรก)

การระดมทุนด้วยกิจกรรมลักษณะนี้ ถือเป็นการระดมทุนแบบใหม่ในสังคมไทย โดยปกติแล้ว คนไทยโดยเฉพาะชาวพุทธมักจะระดมทุนผ่านศาสนา เช่น การทำบุญ การทอดกฐิน เพื่อการสะสมบุญเพื่อชาติภพใหม่ หรือการทำบุญแบบการสงเคราะห์ของแต่ละบุคคล เป็นต้น การระดมทุนในลักษณะนี้ ถือเป็นการสร้างกุศลให้กับพื้นที่แบบรวมกลุ่มสร้าง อาจจะกล่าวได้ว่า หากหลายฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมภายใต้ “ โครงการเชิงยุทธศาสตร์ของพื้นที่ ” ให้ยังประโยชน์กับพื้นที่ได้มากที่สุด ก็เท่ากับเป็นการสร้างระบบภูมิคุ้มกันทางสังคมภายในพื้นที่นั้น ๆ ร่วมกันได้มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งนอกจากการร่วมดำเนินกิจกรรมในการระดมทุนที่ถือเป็นการทำบุญแบบใหม่นี้แล้ว ยังต้องร่วมติดตามผลการระดมทุนว่าสามารถนำไปใช้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ร่วมกันหรือไม่ หากไม่ได้เนื่องจากปัจจัยใด เป็นต้น เพราะ การสร้างระบบภูมิคุ้มกันทางสังคม หรือ ระบบการพึ่งพิงตนเองตามพระราชดำรัส “ เศรษฐกิจพอเพียง ” นี้ เราต้องร่วมกันสร้าง มิใช่หน้าที่ของใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มิเช่นนั้นแล้วก็ไม่จำเป็นต้องสร้างกลไก “ กองทุนสุขภาวะ ” ก็ได้ เพราะถือว่าได้ดำเนินการกันในรูปแบบต่าง ๆ อยู่แล้ว

การดำเนินการสร้างภูมิคุ้มกันของฝ่ายใดฝ่ายเดียว หรือการอยากเพียงเป็นผู้ให้ หรือเป็นผู้รับฝ่ายเดียว ถือว่าไม่ “ สมดุล ” ไม่ “ พอประมาณ ” เพราะหมายถึงความไม่ยั่งยืนของ “ ทุน ” ในมิตินั้น ๆ ภายในพื้นที่ด้วย

รณีศึกษาจากเขตทวีวัฒนาที่ได้นำมาเล่าไว้ช่วงต้นว่า พวกเราใช้ “ โครงการเชิงยุทธศาสตร์ของพื้นที่ด้านสิ่งแวดล้อม ” นำมาพัฒนาเป็นกิจกรรมภายใต้ชื่อว่า “ รักถิ่น ร่วมใจ ปลูกต้นไม้ ถวายในหลวง ” เนื่องในวันมหามงคล 5 ธันวาคมมหาราช โดยกิจกรรม “ รักถิ่น ร่วมใจ ปลูกต้นไม้ ถวายในหลวง ” นั้น สามารถนำไปสู่การระดมทุนได้จริง โดยเฉพาะทุนทางสังคมของเขตทวีวัฒนา คือ ความร่วมแรง ร่วมใจของชาวทวีวัฒนา ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานเขตทวีวัฒนา ธุรกิจท้องถิ่น ส่วนราชการ อาทิ โรงเรียน และเครือข่ายชุมชนทุกชุมชน สำหรับทุนเงินนั้น ในวันงานได้จัดให้มีการรับบริจาค ซึ่งการรับบริจาคดังกล่าว ได้แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ตามยุทธศาสตร์ของพื้นที่ คือ ด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อม การพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน และการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ยากไร้ ถึงแม้ว่าจะได้รับเงินจำนวนไม่มาก แต่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการสะสมทุนของพื้นที่เพื่อการเกื้อกูลกันนั่นเอง

Copyright@ 2006 Bangkok Forum
บางกอกฟอรั่ม เลขที่ 104, 106 ถ.แพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทร. 02-228-1362-3 โทรสาร 02-228-1362 หรือ www.bangkokforum.net หรือ [email protected]