หน้าแรก I ติดต่อบางกอกฟอรั่ม I เกี่ยวกับบางกอกฟอรั่ม I  English version   I  Webboard บางกอก
โครงการต่อเนื่อง
เดือนเมษายน - ธันวาคม 2549
 

โครงการเยาวชนกับการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ
(พัฒนามาจากโครงการเด็กแพร่งภูธรกับการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ)

1. หลักการและเหตุผล

1.1 ที่มาและความสำคัญ

สังคมไทย ในระยะ 30-40 ปีที่ผ่านมานั้น เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีความซับซ้อนเกินกว่าที่จะชี้ชัดลงไปได้ว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากส่วนหนึ่งส่วนใดของสังคม แต่อย่างไรก็ตามด้วยแรงกดดันดังกล่าว ทั้งกระแสจากการบริโภคนิยม กระแสของการพัฒนาและการกำหนดสังคมและชุมชนจากส่วนกลาง กลับเป็นแรงผลักสำคัญที่ทำให้ สังคมไทยในยุคปัจจุบันตกอยู่ในสภาพของการขาดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในสังคม และส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องถึงชุมชนและกลุ่มเยาวชน ภาพสะท้อนของปัญหาที่ชัดเจนประการหนึ่ง คือ เยาวชนขาดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนและดำเนินกิจกรรมร่วมกัน เยาวชนส่วนใหญ่จึงขาดความรักและผูกพันกันทั้งในระดับบุคคลและระดับพื้นที่ที่อยู่อาศัย ด้วยเหตุนี้การที่จะให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมทางสังคม การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเรียนรู้มิตรภาพระหว่างกันในสภาพการณ์ดังกล่าวจึงเป็นไปได้ยากยิ่ง เมื่อเป็นดังนี้ การเปิดพื้นที่เพื่อสรรสร้างสัมพันธ์อันดีงามระหว่างคนในชุมชนและเยาวชน จึงเป็นช่องทางสำคัญในกระบวนการสร้างให้เกิดการเรียนรู้ การมีส่วนร่วม และตระหนักถึงปัญหาจนนำไปสู่ข้อสรุปที่เป็นทางออกร่วมของคนชุมชน จึงนับเป็นรากฐานสำคัญของกระบวนการประชาธิปไตย

บางกอกฟอรั่ม ในฐานะหน่วยงานอิสระที่สนใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง จึงตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าวและมีความต้องการจะฟื้นฟู สร้างสรรค์ และเปิดพื้นที่แพร่งภูธร ให้เป็นสังคมและชุมชนที่มี “ พื้นที่สาธารณะ” สำหรับคนในชุมชนและเยาวชน ได้มีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนอย่างสร้างสรรค์ รู้เท่าทัน และรองรับการเปลี่ยนแปลงด้วยพลังที่มาจากคนในชุมชน ซึ่งการสร้างพื้นที่สาธารณะนั้นถือเป็นกระบวนการสร้างการเมืองภาคพลเมือง กล่าวคือพื้นที่สาธารณะจะเป็นสถานที่ที่กลุ่มคนเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและร่วมเรียนรู้กระบวนการมีส่วนร่วมทางสังคมและร่วมเอาธุระกับสังคมได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการสร้างกระบวนการประชาธิปไตยอย่างสร้างสรรค์

บางกอกฟอรั่ม มีการดำเนินโครงการเยาวชนกับการพัฒนาพื้นที่สาธารณะในพื้นที่สามแพร่ง (แพร่งภูธร แพร่งสรรพศาสตร์ และแพร่งนรา) นับตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2548 โดยเริ่มจัดกิจกรรม การสอนทักษะด้านศิลปะ การเสริมสร้างจินตนาการด้วยการแสดงละคร และการสอนเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ร่วมกับเด็กในสามพื้นที่ โดยเฉพาะในแพร่งภูธร ผลของการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าเด็กในพื้นที่ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมเป็นอย่างดีอีกทั้งผู้ปกครองและบุคคลในชุมชนก็เริ่มหันมาสนใจกิจกรรมนี้มากขึ้น จนมีความประสงค์ที่จะสานต่อกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง จนนำมาสู่การสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อชุมชน คือ “ โครงการเด็กคาเฟ่” ในพื้นที่ชุมชนแพร่งภูธร ที่ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากคนในชุมชนและนับเป็นการขยายพื้นที่สาธารณะภายในชุมชนให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น

โครงการเด็กแพร่งภูธรกับการพัฒนาพื้นที่สาธารณะได้รับความร่วมมือจากกลุ่มศิลปิน เข้ามาจัดกิจกรรมให้กับเด็กในพื้นที่สร้างสีสันและความสนใจให้กับเด็กๆเป็นอย่างมาก ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา กิจกรรมดังกล่าวได้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างเด็กที่ร่วมโครงการและบุคคลในชุมชนได้เป็นอย่างดี ร่วมถึงสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการคิด กระบวนการออกแบบกิจกรรมตามความสนใจของเด็กๆซึ่งตรงจุดนี้ถือว่าเป็นการเริ่มต้นของการบ่มเพาะให้เกิดเยาวชนหน่ออ่อนเพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของชุมชนนั่นเอง (Civic Education)

ด้วยเหตุนี้ การพัฒนา โครงการเยาวชนกับการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ ในครั้งนี้จึงนับเป็นการสานความชัดเจนบนรอยต่อระหว่างสองโครงการเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่เล็ก ๆ และขยายพื้นที่การทำงานออกไปสู่เครือข่ายภาคีภายนอกชุมชนให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

 1.2 กรอบแนวคิดของโครงการ : แนวคิดเรื่องการสร้างพื้นที่สาธารณะ

แนวคิดเรื่องการสร้างพื้นที่สาธารณะของฮาเบอร์มาส คือ การที่ Private subject หรือคนแต่ละคนมาพูดคุย สนทนา ถกเถียง ถึงปัญหาในเชิงสาธารณะ ซึ่งไม่ได้เป็นการมาพูดคุยถึงเรื่องส่วนตัว พื้นที่สาธารณะจึงอาจเป็นได้ทั้งในแง่ของสถานที่ หรือในบางโอกาส บางช่วงเวลา ในแง่นี้ แม้แต่การคุยโทรศัพท์ ก็ยังอาจเป็นปริมณฑลสาธารณะที่มีสื่อกลาง (mediated) ระหว่างตัวรัฐกับสังคม (civil society)

อย่างไรก็ตาม พื้นที่สาธารณะมีกลยุทธ์ในการทำงานที่แตกต่างกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องของการโต้เถียงอย่างมีเหตุมีผล ตัวอย่างเช่น ในอินเดีย ที่มีการใช้ความรุนแรงในการบังคับประชาชน หรือบางแห่งก็มีการใช้กลยุทธ์แบบอื่น เช่น การประท้วง การหยุดงาน หรือขบวนแห่ ซึ่งในรูปแบบการทำงานที่ผ่านมาของบางกอกฟอรั่ม กลยุทธ์หนึ่งที่สำคัญของการทำงาน คือ การใช้ดนตรี การวาดภาพ และกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเปิดพื้นที่สาธารณะร่วมกัน

1.3 แนวทางการดำเนินงาน

จากแนวความคิดดังกล่าวส่งผลให้เกิดแนวทางการดำเนินงาน คือ

1. การสร้างสรรค์กิจกรรมที่มีสีสันให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายกลุ่มที่หนึ่งคือ กลุ่มเด็กอายุ 5-15 ปีในพื้นที่สามแพร่ง ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจะนำมาสู่การค้นหา สืบหาข้อมูลของชุมชน ประวัติศาสตร์ชุมชน เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลในการสร้างสรรค์พื้นที่และเป็นฐานข้อมูลในการแก้ปัญหาของพื้นที่ตามความต้องการของกลุ่มคนในพื้นที่แพร่งภูธรนั่นเอง

2. การสร้างกิจกรรมที่เกิดการมีส่วนร่วมของคนในครอบครัวและคนในชุมชนที่สอดคล้อง กับกลุ่มเป้าหมายและเป็นกิจกรรมที่สร้างความรู้ในยุคสมัย เป็นการสร้างทักษะกระบวนคิดและเสริมสร้างจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในกลุ่มเป้าหมายทั้งสองกลุ่ม คือ กลุ่มเด็ก กลุ่มเยาวชน และกลุ่มอาสาสมัครที่เข้ามาร่วมทำกิจกรรม รวมไปถึงคนในชุมชน โดยผ่านการทำกิจกรรมที่นำไปสู่การสืบค้นเรื่องเล่าของชุมชน (Right of creation and Expression) เช่นการแสดงละคร การวาดภาพ การเขียนเรียงความ การพัฒนาทักษะทางภาษา ศิลปะ และดนตรี ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะเน้นการปลูกฝังจิตสำนึกรักท้องถิ่น ความสัมพันธ์กับชุมชน และจิตใจอาสาสมัครให้กับกลุ่มเด็กในพื้นที่แพร่งภูธรนี้ด้วย

3.การสร้างความผาสุกให้กับสังคม ๆ หนึ่ง สามารถเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ กลุ่มคนเล็ก ๆ และพื้นที่เล็ก ๆ สร้างความเข็มแข็งจากภายในและขยายสู่ภายนอก โดยผ่านกลไกที่เรียกว่ากิจกรรม ไปสู่กลุ่มเด็ก ๆ สานต่อไปถึงครอบครัว พื้นที่ และบุคคลภายนอกที่เข้ามาร่วมก่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆในสังคม อันได้แก่กลุ่มอาสาสมัครผู้ที่เสียสละเวลาเข้ามาทำกิจกรรมเพื่อสังคม ขยายวงกว้างออกมาเป็นพลังที่เสริมสร้างให้เป็นชุมชนน่าอยู่ และมีคุณค่าจากทุนภายในพื้นที่ชุมชนนั่นเอง ซึ่งตรงจุดนี้เองถือเป็นการสร้างและการบันทึกความรู้จากคนในชุมชนเพื่อยังประโยชน์สู่คนในพื้นที่เอง

1.4 เป้าหมายในการดำเนินโครงการ

เป้าหมายในการดำเนินงานโครงการ คือ ต้องการให้เด็กๆเป็นพื้นฐานของสายใยที่เข้มแข็ง ผู้เชื่อมโยงระหว่างกลุ่มต่างๆที่อยู่ในพื้นที่ ( Community Relation Bridge) ทั้งระดับวัยเด็ก วัยรุ่น วัยกลางคนจนกระทั่งถึงวัยผู้สูงวัย ซึ่งกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จะเป็นผู้สร้างสรรค์ชุมชนเป็นเจ้าของชุมชน และนำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ ความปรารถนาร่วมระหว่างชุมชน ครอบครัว หน่วยงาน และองค์กรในพื้นที่ เพื่อแลกเปลี่ยนและเคลื่อนไหว เรื่องการสร้างสรรค์สังคมพื้นที่ให้ดีขึ้น

 พันธกิจ : ส่งเสริมเยาวชนในพื้นที่ เรียนรู้ประชาธิปไตยผ่านกิจกรรมที่สร้างสรรค์

 2.วัตถุประสงค์โครงการ

2.1 เพื่อพัฒนาให้เกิดพื้นที่การเรียนรู้และพื้นที่สาธารณะของกลุ่มคนในชุมชนและเยาวชนอันเป็นเสมือน “ หน่ออ่อนแห่งประชาธิปไตย”

2.2
สร้างให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนด้วย “ พื้นที่สาธารณะ” และเสมือนเป็น เวทีกลางในการแลกเปลี่ยน อันจะนำไปสู่ทางออกของปัญหาที่เป็นข้อเสนอร่วมของชุมชน

2.3เพื่อสร้างและขยายเครือข่ายการทำงานบนพื้นที่สาธารณะในพื้นที่ชุมชนแพร่งภูธร

3. กลุ่มเป้าหมาย

1.เยาวชนอายุ 5-15 ปี ในพื้นที่สามแพร่ง (แพร่งสรรพศาสตร์ แพร่งนรา และแพร่งภูธร)และพื้นที่ใกล้เคียงในเขตพระนคร

2. กลุ่มเยาวชน และกลุ่มอาสาสมัครที่เข้ามาร่วมทำกิจกรรม

4.ระยะเวลาในการดำเนินงาน

เดือนเมษายน – เดือนธันวาคม 2549

 

สามารถติดต่อขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บางกอกฟอรั่ม หรือคุณโสธรสิณี สุภานุสร โทรศัพท์ 0-9703-6823
Copyright@ 2006 Bangkok Forum
บางกอกฟอรั่ม เลขที่ 104, 106 ถ.แพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทร. 02-228-1362-3 และ 02-622-2316โทรสาร 02-228-1362 หรือ www.bangkokforum.net หรือ [email protected]