นอกจากผู้บริหารจะเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ในการบริหารงานดังกล่าวแล้ว บริษัทยังเปิดโอกาสและเกื้อกูลกับชุมชนคนทำงานอีกด้วย ทางบริษัทได้จัดให้มีการประชุมพนักงานทุกวันที่ ๕ และ ๑๕ ของเดือน “การประชุมของเรา เหมือนเรารับฟังความคิดเห็นของเขา ว่าเขามีปัญหาอะไร คุณได้รับความไม่สะดวกอะไร และสอดแทรกเรื่องของบริษัทลงไป... พนักงานรายเดือน รายวัน ทุกคนมีสิทธิ์ ใครสงสัยอะไร มีข้อเดือดร้อนอะไร จะได้พบผู้บริหารโดยตรง พนักงานคนไหนประสบอุบัติเหตุ ทุกคนจะช่วยตามกำลัง จะรวบรวมเงินให้พนักงานคนนั้นไป ไม่ว่าคนไทย คนพม่า เราอยู่กันเป็นครอบครัว ทุกครั้งที่มีการประชุม อย่างกลุ่มที่เป็นพม่า ผมจะบอกเลยว่า ผมไม่เคยคิดว่า คุณเป็นพม่า ผมเป็นคนไทย ผมคิดว่า เราอยู่กันเป็นพี่น้อง...” นอกจากนี้ ช่วงก่อนเปิดเทอม จะมีกิจกรรมให้เด็กๆ ที่เป็นลูกของพนักงาน เขียนเรียงความเพื่อชิงทุนการศึกษาจากประธานบริษัททุกปีอีกด้วย อีกทั้งยังให้โอกาสกับคนพิการ “เรามีพนักงานชายคนหนึ่งเป็นใบ้... ถามว่าทำไมเราจ้างคนใบ้ เพราะเขาเป็นคนเก่ง ขยัน เป็นเจ้าหน้าที่ในคลังวัตถุดิบ พนักงานรายเดือนเอาผ้าไปให้ดู จับนิดเดียวบอกได้ว่า ไม่มี หรือถ้ามี พอไปเอาจะได้เป๊ะๆ ว่าอยู่กองไหน ...กลับไปบ้านทีเหลือเงินให้แม่เป็นหมื่นๆ จากคนทำงานรายวัน แสดงว่าเขารู้จักบริหารเงินของเขา ปัจจุบันผมให้เป็นรายเดือนแล้ว เพราะเขามีความมุมานะ ขยัน ซื่อสัตย์ ดีกว่าคนไม่พิการบางคนเสียอีก เมื่อก่อนมีอีกคนเป็นผู้หญิงแขนด้วนข้างหนึ่ง เรารับ ปรากฏว่าเขาทำงานดีกว่าคนแขนดีเสียอีก ไวด้วย... เราไม่ได้มองว่าเขาเป็นคนสมบูรณ์/ ไม่สมบูรณ์ แต่คัดจากการสอบเย็บ ว่าเขาทำงานได้ไหม ซึ่งเราไม่ได้เข้มงวดมาก แค่ดูว่าเขาทำได้ ก็ให้ทำงาน.... ”
ส่วนการทำงานกับชุมชน ส่วนใหญ่บริษัทฯ มักให้ความร่วมมือกับทางเขตทวีวัฒนาอยู่เสมอ รวมทั้งให้การสนับสนุนโรงเรียนและชุมชนรอบๆ เช่น การสนับสนุนกิจกรรมงานวันเด็กกับโรงเรียน การร่วมกิจกรรมกับชมรมของดีถิ่นทวีวัฒนา เป็นต้น
กรณีของบริษัท ร็อคกี้เทรดดิ้งกรุ๊ป จำกัด สะท้อนให้เห็นว่า องค์กรมีการบริหารงาน บริหารคน แบบที่ให้คุณค่ากับความเป็นมนุษย์ โดยมองถึงความมั่นคงในชีวิตของพนักงาน และการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขของสมาชิกในชุมชนบริษัท ที่แสดงถึงความเข้าใจ เห็นใจและให้โอกาสแก่กัน ส่งผลให้เกิดการปฏิบัติที่มาปรับกันได้พอดี และให้ความรู้สึกถึงการเกื้อหนุน มากกว่าการควบคุมบังคับ ซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยเสริมพลังความสัมพันธ์ของผู้คน ความรู้สึกฉันพี่น้องในองค์กร อันเป็นคุณธรรมสำคัญที่จะทำให้องค์กรและธุรกิจก้าวไปได้ในหนทางที่ดีงาม แม้ว่าในโลกของธุรกิจ จะเป็นเรื่องของความสัมพันธ์เชิงผลประโชน์เป็นหลักก็ตาม
จากกรณีตัวอย่างดังกล่าว คงพอจะสะท้อนให้เห็นถึง อุดมการณ์ ค่านิยม หรือปรัชญาที่แฝงฝังอยู่ในวิถีชีวิตของกลุ่มคนในวิชาชีพต่างๆ ที่ทำให้เห็นว่า ต่างก็มีวิธีคิดเรื่อง “การให้” การแบ่งปัน การช่วยเหลือเกื้อกูล ความเอื้ออาทร ซึ่งอาจเป็นเรื่องของการให้เวลา ให้ความรู้ ให้โอกาส แม้กระทั่งวัตถุ สิ่งของ อันถือได้ว่า เป็นศีลธรรมพื้นฐานของการเป็นอยู่แบบพอเพียง/ ชีวิตที่พอเพียง โดยไม่ได้มองเพียงประโยชน์เฉพาะตนเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการให้เพื่อประโยชน์กับกลุ่ม กับสังคมชุมชน หรือกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นทัศนคติหรือโลกทัศน์ที่มองว่า มนุษย์ต้องใช้ชีวิตที่เชื่อมโยงกับคนอื่น กับสังคม กับระบบนิเวศ และหากมองเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ก็จะก่อให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เพราะมีฐานที่เชื่อมโยงกับด้านสังคมและด้านจิตใจ ที่สำคัญสิ่งนี้เองคือ แกนกลางของ “ความเป็นชุมชน” ทุกรูปแบบ แม้ดูว่าจะเลือนลางไปในสมัยบริโภคนิยม ที่ระบบความสัมพันธ์มักวางอยู่บนพื้นฐานของทัศนะแบบกอบโกย ได้ยิ่งมากยิ่งดี หรือวิธีคิดในเชิงของการแลกเปลี่ยน การประเมินผลได้ผลเสีย เข้ามาแทนที่ก็ตาม แต่จากทัศนะของผู้คนต่างๆ ก็มักทำให้เห็นว่า ภายใต้บริบทของสังคมสมัยใหม่ ก็สามารถฟื้นคุณค่าเหล่านี้กลับมาได้ ซึ่งจะทำได้แค่ไหน คงไม่มีคำตอบสำเร็จรูป เป็นเรื่องที่ต้องการการคิดและทำต่อ รวมถึงการตระหนักว่า การให้นั้นต้องไม่เป็นไปเพื่อควบคุม ทำร้าย หรือครอบงำคนอื่นโดยเราไม่รู้ตัว
|