เมื่อแรกที่ไปเยือนสวนผักของคุณประยุทธ ในย่านพุทธมณฑลสาย ๒ แปลงกำลังถูกเตรียมเพื่อผลิตผักให้ทันกับช่วงเทศกาลกินเจที่จะมาถึงในเดือนตุลาคมนี้ แทบไม่น่าเชื่อว่า ในย่านนี้ยังคงมีพื้นที่เกษตรหลงเหลืออยู่ ท่ามกลางการรายล้อมของตึกรามบ้านช่องและหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งคุณประยุทธสะท้อนว่า “สภาพอากาศเลวร้ายลง อุณหภูมิเปลี่ยน ออกซิเจนลดลง เมื่อ ๒-๓ ปี ตรงนี้มีมะพร้าว มะม่วงเต็มไปหมด ตอนนี้มีแต่เหล็ก ซีเมนต์ ปัญหาหลักตอนนี้คือความร้อน ... ยิ่งอากาศร้อน เชื้อรา โรคต่างๆ หนอน จะแพร่มาก เป็นอุณหภูมิที่เหมาะสมกับเขา เขาก็ต้องการสืบพันธุ์ ดำรงพันธุ์อยู่ หลังๆ มานี่ ผมก็ต้องมองอะไร พูดอะไรเป็นระบบเหมือนกัน” ซึ่งคุณประยุทธก็ได้สะท้อนปัญหาเชิงระบบของการเกษตรทุกวันนี้ว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากเกษตรกรขาดความรู้ เช่น ยาบางตัวดูดซึมอยู่นานเป็นเดือน หากตรวจสอบก็จะไม่ผ่าน บางคนไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องช่วงเวลาที่เหมาะสมในการฉีดสารเคมี วัฏจักรของแมลง เป็นต้น นอกจากนี้ เกษตรกรยังวางแผนการผลิตไม่เป็น ชอบผลิตตามกัน ทำให้มีปัญหาเรื่องตลาดรองรับ อีกทั้งคนที่จะทำเรื่องตลาดอย่างจริงจังก็ไม่มี ทำให้วันนี้ระบบตลาดผักปลอดสารพิษยังไม่เข้มแข็งพอ
นอกจากเป็นผู้บุกเบิกการผลิตผักปลอดสารพิษแล้ว คุณประยุทธยังเป็นคนที่ต่อสู้เรื่องตลาด ไม่ยอมถูกกดราคา โดยพยายามมองหาตลาดที่เกษตรกรสามารถขายตรงถึงมือผู้บริโภคได้เอง แต่เมื่อมาทำ กลับพบว่ามีปัญหามากมาย ซึ่งโดยลำพังตนเองผลิตและส่งขายตลาดนัดปากตรอกที่อยู่ ก็สามารถอยู่รอดได้อย่างสบาย สามารถทำให้ลูกค้าติดได้ไม่ยาก แต่เพราะมองโดยส่วนรวม นึกถึงเพื่อนเกษตรกรคนอื่นๆ ด้วย “ในสมองผมคิดตลอดเวลา ถ้าทำอะไรได้ดีก็อยากทำ ช่วยเหลือใครได้ก็อยากทำ ผมก็อยากให้เกิดอะไรหลายอย่าง.... คือทำการตลาดกับการผลิตให้ประสบความสำเร็จ ..ผมอยากให้เกษตรกรพัฒนา ไม่อยากให้ย่ำอยู่กับที่...” ดังนั้นแม้จะล้มๆ ลุกๆ เกิดความท้อบ้าง เพราะต้องแบกรับภาระ แต่เมื่อได้กำลังใจจากหลายฝ่าย วันนี้จึงต้องลงมาลุยเรื่องระบบตลาดอีกครั้ง พร้อมๆ กับที่ยังทำแปลงปลูกผักเพื่อให้เป็นตัวอย่างกับเกษตรกร เพราะถ้าไม่ทำรูปธรรม เวลาไปคุยกับใคร ก็จะไม่มีใครเชื่อ แต่มองว่า ในอนาคต หากทางราชการหรือทางเขตฯ หนุนช่วย ตนจะผันไปทำการตลาด พร้อมๆ กับการตระเวณไปเป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้กับเกษตรกรในการทำการผลิตให้ปลอดภัยและให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ปลอดสารพิษ โดยควบคุมเรื่องการใช้สารเคมี ซึ่งหากทำตรงนี้ได้ จะสามารถช่วยเกษตรกรให้มีรายได้อีกมาก คุณประยุทธบอกว่า ทุกวันนี้จึงเข้าไปคลุกคลีศึกษาทุกอย่าง แม้ต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายโดยไม่ได้อะไรตอบแทนมากนัก เพราะมองว่า ด้วยความรู้ ประสบการณ์ที่สั่งสมมา บวกกับการมีเครือข่ายคนที่รู้จักมากมาย ทั้งฝ่ายราชการ เกษตรกร ผู้นำชุมชน นักวิชาการ จะสามารถช่วยให้ระบบการผลิตและการตลาดผักปลอดสารพิษไปได้อีกไกล โดยมีความคิดเรื่องการสร้างศูนย์รับซื้อ ที่จะทำหน้าที่รวบรวม คัดแยกเกรด และกระจายสินค้าออกไปยังตลาดระดับต่างๆ ให้ได้ทั้งหมด ซึ่งในอนาคตอาจขยายไปถึงผลไม้ เนื้อสัตว์ ให้เป็นศูนย์ของสินค้าปลอดสารพิษจริงๆ ที่ผู้บริโภคเข้ามาที่จุดเดียวแล้วได้ของครบทุกอย่าง โดยทางการเข้ามาเป็นพี่เลี้ยง และให้เกษตรกรที่เข้าใจเข้ามาบริหาร เพื่อให้เป็นหลักประกันด้านการตลาดกับเกษตรกร ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ทำให้ควบคุมเรื่องมาตรฐานไม่ได้
คุณประยุทธให้แง่คิดว่า เกษตรกรต้องหันกลับมาผลิตพืชผักให้มีคุณภาพมากขึ้น มีการวางแผนการผลิต และอาศัยการรวมผลผลิตและจัดการด้านการตลาด ถ้าได้ตามแผนจริงๆ เกษตรกรสามารถอยู่ได้อย่างสบาย เพราะรู้ต้นทุนและราคาแน่นอน ปีหนึ่งอาจทำแค่ ๓ ล็อต เน้นทำในพื้นที่ขนาดเล็ก มากกว่าในพื้นที่มากๆ ตลาดพืชผักปลอดสารพิษเป็นตลาดที่ท้าทายและน่าทำ เพียงแต่ต้องการการสนับสนุนในช่วงเริ่มต้น และปัจจุบันมีแนวคิดที่จะผลักดันเรื่องการกำหนดมาตรฐาน GAP สำหรับผู้ผลิตผักปลอดสารพิษของกทม.ให้ใช้แนวเดียวกันทุกเขต แทนการใช้ GAP ของกรมวิชาการเกษตร เนื่องจากเป็นมาตรฐานระดับการส่งออก เพราะมองว่า เกษตรกรควรมีบทบาทในการกำหนดกฎระเบียบที่จะออกมาใช้บังคับควบคุมกลุ่มตน
แนวคิดและการทำงานที่ผ่านมาของคุณประยุทธ สะท้อนให้เห็นว่า เขาเป็นคนที่ใฝ่เรียนรู้ และรู้จักแบ่งปันความรู้นั้นให้กับเพื่อนเกษตรกร รวมทั้งการมองถึงโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะเข้ามาช่วยหนุนเสริมกับกลุ่มเกษตรผู้ปลูกผักปลอดสารพิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขยับมาทำเรื่องระบบตลาดแบบที่นึกถึงเพื่อนร่วมอาชีพเดียวกันให้อยู่รอดได้ด้วย หากถามถึงความฝันสูงสุดในสิ่งที่ทำอยู่ขณะนี้ เขายังยืนยันว่า “ผมอยากผลิตผักให้คนกินปลอดภัย และอยากให้เกษตรกรมีความก้าวหน้าในการพัฒนาการผลิตผักขึ้น ” เนื่องจากมองว่า ไม่ว่าด้วยเต็มใจหรือไม่ก็ตาม เกษตรกรต้องตกอยู่ในลู่วิ่งของการแข่งขันในตลาด ยิ่งหากเปิดการค้าเสรี (FTA ) จะต้องสู้กับประเทศเพื่อนบ้านอีกหลายประเทศ ซึ่งผลิตสินค้าเกษตรที่ผ่านการตรวจรับรองเข้ามาตีตลาดในบ้านเรา และกระแสผู้บริโภคก็หันมาให้ความสนใจเรื่องนี้มากขึ้น แต่หากเกษตรกรบ้านเรายังย่ำอยู่กับที่ ก็จะไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ อันเป็นแนวคิดที่มองการตลาดแบบนึกถึงเพื่อนเกษตรกรคนอื่นๆ ให้อยู่รอดได้ มองการตลาดแบบก้าวหน้า เช่น การคัดแยกเกรด ดูประเภทตลาดเพื่อกระจายสินค้าออกให้ได้ทั้งหมด อาจขยายไปถึงผลไม้ เนื้อสัตว์ ให้เป็นร้านปลอดสารพิษจริงๆ ที่ผู้บริโภคมาแล้วได้สิน |