ลุงแบ็งค์ช่วยสังคมมาตลอด นับแต่วันที่น้ำยังไม่ไหล ไฟยังไม่สว่าง ที่วันนี้คือชุมชนสุขทวี ๑-๒ แขวงศาลาธรรมสพน์ ที่มีการจัดตั้งเป็นชุมชนเมื่อปี ๒๕๔๑ มานี้เอง เมื่อได้งบประมาณมา ลุงในฐานะประธานชุมชนกับกรรมการจึงเริ่มลุยเรื่องสาธารณูปโภคก่อน คือประปา เพราะเมื่อก่อนต้องใช้น้ำบาดาล ตามด้วยเรื่องไฟทาง และไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นในชุมชน ลุงก็จะรีบเข้าไปแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นไฟดับ น้ำไม่ไหล ไฟไหม้ลามทุ่งหญ้า หลังๆ ยังมีปัญหาเด็ก-เยาวชนมั่วสุมกัน ลุงจึงริเริ่มจัดกิจกรรมเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยเรี่ยไร่เงินจากชาวบ้านบ้าง ขอความร่วมมือจากทาง กทม. ทางตำรวจบ้าง เข้ามาทำกิจกรรม รวมทั้งประสานกับทางโรงเรียน เพราะลุงเห็นปัญหาว่า ครอบครัวทุกวันนี้พ่อ-แม่ ลูก ไม่มีเวลาให้กัน เงินจากการพัฒนาชุมชนบางส่วน ก็จะแบ่งสรรปันส่วนไปช่วยเหลือกิจกรรมเด็ก หรือให้ทุนช่วยเหลือเด็กยากจน ...เหล่านี้คือสาเหตุที่ทำให้ลุงได้รับความไว้วางใจจากคนในชุมชน เลือกให้เป็นประธานชุมชนมาตลอด ๘ ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งของการทำงานดังกล่าว ลุงบอกว่า เพราะมีทีมกรรมการชุมชนที่ดีด้วย งานหนึ่งที่ลุงภาคภูมิใจคือ การจัดตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ที่แรกตั้งมีทุนเพียง ๑,๕๐๐ บาท จากการตั้งต้นของบรรดากรรมการชุมชน จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา ๓ ปี มีทุนสะสมล้านกว่าบาทแล้ว มีสมาชิก ๒๐๐ กว่าคน และสิ่งที่ลุงฝันว่าที่จะพัฒนาชุมชนต่อไป ก็ยังเป็นเรื่องของการอำนวยความสะดวกให้กับคนในชุมชน นั่นคือ การทำเรื่องไฟซอย/ ไฟสาธารณะ เพื่อป้องกันปัญหาลักขโมยและการมั่วสุม รวมทั้งการยกระดับถนนเพื่อป้องกันน้ำท่วม เป็นต้น
ลุงบอกว่า ตัวเองไม่มีเงิน แต่มีใจเต็มร้อย หลายๆ เรื่องที่ทำไม่ได้สตางค์ แต่เพราะ “ ได้ใจ” จากวิถีชีวิตและการทุ่มเททำงานอย่างเสียสละนี่เอง ที่ทำให้ลุงได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย เช่น ผู้สูงอายุดีเด่น ผู้ประสานงานพลังแผ่นดินจาก กทม. พ่อดีเด่น ฯลฯ รวมทั้งได้รับความไว้วางใจให้รับบทบาทหน้าที่หลายตำแหน่ง และยังทำให้ชุมชนได้รับประโยชน์จากโครงการ กองทุนต่างๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากภายนอก เช่น กองทุนแผ่นดินแม่ ซึ่งลุงบอกว่า “...รู้สึกภาคภูมิใจ ...ใจเราว่า ช่วยสังคมน่ะดีที่สุด มันช่วยตัวเราด้วย เหมือนกับทำบุญ... ใจเราเป็นสาธารณะ เราทำได้... ”
ทุกวันนี้แม้จะมีปัญหามากมาย แต่ลุงไม่เคยเครียด “...ใครจะยังไง ลุงก็ว่า เออ เออ ดี บางทีเขาถามว่า ลุงเมื่อไหร่จะติดไฟเสียที เมื่อไหร่ไฟจะมา ลุงบอก ไอ้หนูใจเย็นๆ บางทีก็เอาเบอร์โทรศัพท์ให้เขาไปติดต่อเอง บางครั้งก็ เออ ช่วยลุงหน่อยนะ” หลายเรื่องๆ ลุงก็ช่วยเดินเรื่องให้ชาวบ้านด้วยใจอาสา “...คนเรา ถ้าเรามีใจให้เขาเท่านั้นแหละเราก็สบายใจ ไม่ต้องมีเงินหรอก ความดีไม่ไปไหนหรอกลูก ถ้าเราทำด้วยใจ นอนก็นอนตาหลับ...ทุกอย่างอยู่ที่ใจ จะทำดี ทำชั่วเราก็รู้ที่ใจ ถ้าทำดีเราก็สบายใจ...” ลุงบอกว่า เพราะลุงไม่มีหนี้สินต้องคิดขายโน่นขายนี่เหมือนคนอื่น ไม่มีเรื่องขัดแย้งกับใคร อีกทั้งลูกๆ ก็เป็นคนดี เลยทำให้อยู่อย่างสบายใจ เมื่อมีปัญหา ลุงจะยิ้มสู้เสมอและมองว่าปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ ขอให้ใจเย็นๆ จนดูเหมือนว่าไม่มีปัญหา และสำหรับลุงแล้ว ลุงว่างเสมอสำหรับงานช่วยเหลือชุมชน
ทุกวันนี้แม้กำลังวังชาจะถดถอยไปบ้าง แต่ลุงมีใจเกินร้อย ยังคงรับจ้างวิ่งมอเตอร์ไซค์ ลุงสะท้อนถึงความภูมิใจในอาชีพนี้ให้ฟังว่า “...มันให้ใจเราด้วย เราจะได้ดูแลลูกบ้านเรา เด็กคนนี้มันติดยารึเปล่า มีความประพฤติยังไง ...” ยิ่งทุกวันนี้สังคมมีปัญหาน่าเป็นห่วงและล่อแหลมมากกับเด็กผู้หญิง “...ที่วิ่งเพราะสาเหตุตรงนี้ด้วย จะได้ดูเด็กๆ ในชุมชนเราด้วย...ความเชื่อถือของพ่อแม่เด็กด้วย บางคนเขาก็ฝากเรา...”
ลุงบอกว่า ชีวิตคนกรุงเทพฯ เป็นวิถีชีวิตที่ต่างคนต่างอยู่ เช้าขึ้นก็ต่างไปทำงาน อาชีพก็หลากหลาย ไม่รู้จักกันเลย จากยุคแรกๆ ที่ต่างคนต่างทะยอยกันเข้ามาอยู่ ลุงจึงต้องพยายามประสาน ให้เกิดการรู้จักมักคุ้น ให้รู้ว่าใครเป็นใคร เพื่อจะได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน บางครั้งลุงก็เชิญประชุมหารือผ่านเครื่องขยายเสียงเพื่อขอความเห็นจากลูกบ้านในกิจการที่เป็นสาธารณูปโภค งานสาธารณะ การขอความร่วมมือหรือสร้างการมีส่วนร่วมจึงไม่ใช่งานง่ายเลย
ขณะที่ลุงบอกเล่าเรื่องราวชีวิตและงานให้ฟัง ประเด็นหนึ่งที่สะท้อนขึ้นมาอย่างชัดเจน คือความไว้วางใจของคนในชุมชนที่มีต่อลุง เป็น “ ลุงแบ็งค์” ของทุกคนในชุมชน ตั้งแต่เด็กเล็กๆ ไปจนถึงคนสูงวัย อย่างที่ลุงใช้คำว่า (ความเป็นคน ) “ กันเอง” ซึ่งเป็นสิ่งที่ดูเหมือนจะหาได้ยากยิ่งขึ้นทุกทีในสังคมเมืองทุกวันนี้ อย่างบางบ้านอยู่กันแค่สองคนสามี-ภรรยา แล้วสามีไม่อยู่บ้าน เขาก็ไว้ใจลุงให้ช่วยเป็นหูเป็นตาให้ หรือบางทีเด็กนักเรียนไม่มีสตางค์ไปโรงเรียน ลุงก็พร้อมที่จะควักให้ด้วยความเต็มใจ เช่นเดียวกัน ลุงกับคู่ชีวิต ก็เป็นผู้สูงวัยที่อยู่กันสองคนตายาย ยามลูกๆ ต้องออกไปทำงาน ลูกสาวของลุงบอกว่า “ อาศัยว่ารู้จักกันทั่ว ก็ได้อาศัยเพื่อนบ้านช่วยดูแลพ่อ-แม่ให้เหมือนกัน”
ความไว้วางใจกันของคนในชุมชนนี้เอง อาจกล่าวได้มา มีที่มาจากความสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งเกิดจากการที่คนในชุมชนติดต่อกันโดยตรง มีการทำกิจกรรมทางสังคมร่วมกัน มีความเกื้อกูลช่วยเหลือกัน แม้ไม่ได้เกิดจากระบบเครือญาติหรือโดยผ่านวัฒนธรรมประเพณีเช่นในสังคมชนบท แต่ก็เกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่งภายในวิถีชีวิตของสังคมเมือง
ลุงบอกว่า ทุกวันนี้ความสุขของลุงอยู่ที่การได้ช่วยคน เพราะที่บ้านไม่มีปัญหา ปัญหาส่วนตัวก็ไม่มี เหล้าไม่กิน บุหรี่ไม่สูบ ลุงจึงมีอิสระที่จะช่วยเหลืองานชุมชนเต็มที่
....ทุกวันนี้ลุงแบ็งค์ อาศัยอยู่กับครอบครัวที่อบอุ่นพร้อมหน้าด้วยลูกสาว และป้า...ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยาก ยังคงตื่นแต่เช้ามืดเพื่อไปส่งเด็กนักเรียนและคนทำงานขึ้นรถที่ปากซอยของชุมชน จากนั้นก็เดิน/ วิ่งออกกำลังกาย ทำหน้าที่ปิด-เปิดไฟในซอยแยกของชุมชนในช่วงเช้าและเย็น ช่วยงานสาธาณะในฐานะประธานชุมชนอย่างแข็งขัน บ่ายๆ ก็ออกไปวิ่งมอเตอร์ไซต์ ด้วยเป็นความสุขอย่างหนึ่งที่ได้พบปะทักทายผู้คน และได้สำรวจตรวจตราชุมชนไปในตัว....
|