นับจากเดือนเมษายน 2549 จนถึงปี 2550 หลังจากที่โครงการศิวิฆคาเฟ่ และโครงการเด็กคาเฟ่ ได้ดำเนินงานไปแล้วตั้งแต่พ.ศ.2547 จนถึงพ.ศ. 2549 ในปี 2550 นี้ โครงการ ฯ ดังกล่าวได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมโดยมุ่งเชื่อมร้อยกลุ่มบุคคลทั่วไปในกรุงเทพให้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาบริเวณใกล้เคียงกับสถานที่ตั้งของบางกอกฟอรั่ม โดยชุดกิจกรรมใหม่ที่ได้ออกแบบไว้ได้พัฒนาต่อยอดจากชุดกิจกรรม “ โครงการเด็กคาเฟ่” โดยบางกอกฟอรั่มได้เปลี่ยนชื่อจาก “ โครงการเด็กคาเฟ่” เป็น “ โครงการบางกอกคาเฟ่” หรือ “ Bangkok Civic Cafe” ชุดกิจกรรมประกอบไปด้วย กิจกรรมดูหนังพัฒนาพลังปัญญา กิจกรรมเรียนรู้วิถีชุมชนด้วยการทัวร์ชุมชน เป็นต้น โดยเครือข่ายที่เข้าร่วมกิจกรรมทัวร์ชุมชนจะเป็นเครือข่ายจากชุมชนในเขตต่าง ๆ ของกรุงเทพ ฯ ภายใต้การดำเนินงานของชุด “ โครงการสนับสนุนการก่อตั้งกองทุนสุขภาวะกรุงเทพ” อาทิ เขตทวีวัฒนา เขตหนองจอก เขตจอมทอง เขตพระนคร เป็นต้น
โครงการ BANGKOK CIVIC CAFE
(ภาคต่อเนื่องโครงการ CIVIC CAFE และโครงการเด็กคาเฟ่)
ความสำคัญและที่มา
พื้นที่สาธารณะเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีทางออกในการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพค่อนข้างจำกัด ปัจจุบันพบว่าพื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯ ที่คนจะเข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกันนั้นมีไม่มากนัก ยิ่งถ้าเป็นพื้นที่สาธารณะที่ถูกใช้ให้เป็นประโยชน์ทางปัญญายิ่งพบว่ามีน้อย
บางกอกฟอรั่มที่ได้ริเริ่มใช้พื้นที่มีอยู่แล้วได้แก่ สวนสาธารณะในแพร่งภูธร พื้นที่ชั้นล่างภายในสำนักงานของบางกอกฟอรั่ม พื้นที่โดยรอบ และพื้นที่เขตนำร่อง (โครงการกองทุนสุขภาวะกรุงเทพฯ) ได้แก่ เขตหนองจอก-จอมทอง-ทวีวัฒนา-พระนคร จัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสติปัญญาให้กับผู้สนใจ โดยมีกิจกรรมที่หลากหลาย ได้แก่ กิจกรรมเด็ก การทัวร์ชุมชน การจัดฉายภาพยนตร์ที่คัดสรรแล้ว โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายตั้งแต่เด็กในแพร่งภูธร นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่อยู่ใกล้เคียง ได้แก่ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อาสาสมัคร และเครือข่ายบางกอกฟอรั่ม รวมทั้งผู้สนใจทั่วไป
กิจกรรมในโครงการ ฯ ประกอบด้วย
1. กิจกรรมดูหนังสร้างพลังปัญญา
ในส่วนของภาพยนตร์นั้นถือเป็นสื่อที่มีพลัง สามารถสร้างความเข้าใจ สามารถเผยแพร่แนวคิด และสามารถสร้างความรู้สึกบางอย่าง ภาพยนตร์บางเรื่องทำให้คนดูเกิดความรู้สึกฮึกเหิม รักชาติ บางเรื่องทำให้เกิดความภูมิใจ บางเรื่องทำให้รู้สึกเศร้า บางเรื่องสามารถทำให้ผู้เข้าชมอยากทำสิ่งดีๆ ให้กับสังคม ด้วยเหตุนี้ บางกอกฟอรั่มจึงได้คัดสรรภาพยนตร์ดีๆ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คน ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเป็นภาพยนตร์ที่ฉายตามโรงภาพยนตร์ แต่บางเรื่องอาจจะเป็นภาพยนตร์นอกกระแส เป็นภาพยนตร์สารคดี ฯลฯ มาจัดฉายให้ผู้สนใจได้เข้าชมเพื่อกระตุ้นความคิดของผู้เข้าชม กระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเป็นการเปิดพื้นที่สาธารณะทางปัญญา ( ติดตามโปรแกรมฉายหนังได้จาก www.bangkokforum.net ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงเดือนมีนาคม 2550)
2. กิจกรรมเรียนรู้วิถีชุมชน
ในส่วนของการทัวร์ชุมชน ได้แบ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายเป็นสองกลุ่มในการจัดกิจกรรมเรียนรู้วิถีชุมชน คือ
1. กลุ่มเด็กในแพร่งภูธร-แพร่งนรา และพื้นที่ชุมชนใกล้เคียง
สำหรับกลุ่มเด็กในแพร่งภูธรนั้น เป็นการพาเด็กไปเดินเที่ยวตามสถานที่สำคัญในบริเวณใกล้เคียง พร้อมอธิบายความสำคัญและความเป็นมาของสถานที่ และอาจจะมีกิจกรรมอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น การวาดภาพสีน้ำ โดยจะปลูกฝังความคิดในการรักท้องถิ่น คุณธรรม และสิ่งที่จำเป็นต่อการเป็นพลเมืองที่ดีให้กับเด็ก ซึ่งจะทำกิจกรรมดังกล่าวในช่วงเวลาเย็นหลังเด็กเลิกเรียนโดยเฉลี่ยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง
2. อาสาสมัคร เครือข่ายบางกอกฟอรั่ม และกลุ่มผู้สนใจทั่วไป
สำหรับกลุ่มที่ 2 นี้ บางกอกฟอรั่มจะเริ่มจัดทัวร์ชุมชนในเขตพื้นที่ที่บางกอกฟอรั่มได้ดำเนินการโครงการกองทุนสุขภาวะกรุงเทพ อาทิ เขตหนองจอก เขตจอมทอง เขตทวีวัฒนา เขตพระนคร และเขตอื่น ๆ ในอนาคต ซึ่งบางกอกฟอรั่มจะทำงานร่วมกับแกนนำชุมชนในพื้นที่ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้คุณค่าของชุมชน ซึ่งการท่องเที่ยวทัวร์ชุมชนในลักษณะนี้เป็นการท่องเที่ยวที่สร้างสรรค์ ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตัวผู้ท่องเที่ยวเอง และชุมชนจะมีศักยภาพในการจัดการ และการบริหารธุรกิจของท้องถิ่น
วัตถุประสงค์
1.เพื่อเปิดพื้นที่สาธารณะ (PUBLIC SPACE) ในบริเวณลานแพร่งภูธร และพื้นที่ในส่วนร้านกาแฟของบางกอกฟอรั่มให้มากขึ้น (พื้นที่เดิมโครงการศิวิฆ คาเฟ่)
2.เพื่อจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ในการเพิ่มพูนความรู้ กระตุ้นความคิด ให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม (โดยคาดหวังลึกๆ ว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะตื่นรู้ กลายเป็นพลเมือง (CITIZEN) ที่มีคุณค่าต่อสังคม)
3.เพื่อประชาสัมพันธ์งานที่ดำเนินงานอยู่ของโครงการกองทุนสุขภาวะกรุงเทพ ฯ โครงการส่งเสริมสำนึกอาสาสมัคร เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีแก่สังคม ฯลฯ
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. เกิดการใช้พื้นที่สาธารณะให้เป็นประโยชน์มากขึ้น
2. ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้สาระประโยชน์ ความบันเทิงอย่างมีสาระ จากการเข้าร่วมกิจกรรม และเกิดจิตสำนึกของการเป็นพลเมือง
3. ได้สามารถประชาสัมพันธ์งานที่ทำอยู่ อาทิ โครงการกองทุนสุขภาวะกรุงเทพไปสู่กลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรม
4. เกิดเครือข่ายใหม่ๆ อาทิ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และอาสาสมัครเพื่อสร้างสุขภาวะให้สังคมกรุงเทพ
การประเมินและวางแผนอย่างมีส่วนร่วม
ประเมินแบบ EMPOWERMENT EVALUATON เน้นการพูดคุยกันอย่างกัลยาณมิตรเพื่อร่วมพัฒนากิจกรรมให้ดีขึ้น ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการประเมิน และวางแผนงานกิจกรรม ตลอดจนมาร่วมเป็นอาสาสมัครในโครงการ
ผู้ดำเนินการ
นายครรชิต จูประพัทธ์ศรี ติดต่อ [email protected] |