แนวคิดที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษที่สำคัญประการหนึ่งของชาวชุมชนแห่งนี้คือเรื่องการให้ความสำคัญกับการศึกษา ดังจะเห็นได้จากการก่อตั้งโรงเรียนขึ้นมาในชุมชนกันเองตั้งแต่สมัย พ.ศ. 2479 โดยไม่คิดที่จะรอรับช่วยเหลือจากราชการ จนปัจจุบันนี้มีการจัดการศึกษาในชุมชนตั้งแต่ระดับเด็กก่อนวัยเรียน (ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน) ระดับอนุบาลจนถึงชั้นประถมปีที่ 6 (โรงเรียนอิสลามลำไทร) ระดับมัธยมศึกษา (การศึกษานอกโรงเรียน) ไปจนถึงระดับอุดมศึกษา โดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครเข้ามาจัดกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษาและชุมชนอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังมีศูนย์บริการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ศูนย์เรียนรู้ธรรมชาติกับวิถีชีวิตพึ่งตนเอง มีการจัดการเรียนการสอนศาสนาอิสลาม มีการจัดสวัสดิการชุมชน ได้แก่ ศูนย์สุขภาพชุมชน กองทุนซะกาต และกองทุนฌาปนกิจของชุมชนตามหลักศาสนาอิสลามนอกจากนี้ที่น่าสนใจมากก็คือ สหกรณ์ร้านค้าชุมชน
ชุมชนแผ่นดินทอง คอยรุตตั๊กวา ได้ก่อตั้งสหกรณ์ร้านค้ามาตั้งแต่ พ.ศ.2532 นับเวลาจนถึงปัจจุบันนี้ได้ 17 ปีแล้ว โดยชุมชนเป็นผู้ก่อตั้งกันเอง คิดกันเอง ทำกันเอง บนพื้นฐานของความไม่มีอะไรเลย ตั้งแต่ไม่มีอาคาร ไม่มีทุนเงิน มีแต่ความคิดที่อยากทำสวัสดิการชุมชนเพื่อช่วยเหลือกันเองในรูปแบบของสหกรณ์ โดยให้คนที่มีเงินน้อยมาเป็นเจ้าของ เงินกำไรที่ได้จากสหกรณ์ร้านค้า จะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน เพื่อปันผลให้กับสมาชิก และเอามาพัฒนาชุมชน เช่น ทำศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน โรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม
ในการระดมทุนครั้งแรก มีการขายหุ้นในอัตราผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 20 บาท รวมเป็นเงิน 7,000 บาท แต่เมื่อได้เงินมาแล้ว กลับพบอุปสรรคเนื่องจากผู้คนจำนวนมากยังไม่เข้าใจ
“ไปซื้อของไม่มีร้านไหนขายให้เลย เพราะไม่รู้ว่ามันเป็นอย่างไร มันจะไปไหวไหม คือไปซื้อของราคาประมาณ 15,000 บาท จนไปเจอร้านหนึ่งเขาบอกว่า อาจารย์..หนูช่วย แล้วก็ได้ของจากร้านนั้นมาขาย โดยใช้มุมหนึ่งของโรงเรียนเป็นที่ตั้งสหกรณ์ขายสินค้า คนก็เริ่มเข้าใจ แล้วมีเงินปันผล ซึ่งกลายเป็นคำตอบว่า สหกรณ์ดี ชาวบ้านก็เลยถือหุ้นเพิ่ม ไม่เคยเลยในชีวิตที่ชาวบ้านซื้อของแล้วจะได้เงินกลับคืน ตอนนี้มีเงินหุ้นอยู่ 7 แสน มีเงินทุนหมุนเวียน 1 แสน ซึ่งพอแล้ว และชุมชนไม่อยากขยายสหกรณ์ คือจริงๆ แล้วสหกรณ์เป็นอุดมการณ์ สหกรณ์ไม่ใช่ร้านค้า” อาจารย์สมชายอธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น
“สำนักพัฒนาชุมชนเข้ามาถามผมว่า อาจารย์จะเอาเงินไหม ดอกเบี้ยไม่มี ผมบอก..ผมไม่เอา เงินโครงการ SML ก็ไม่เอาด้วย ทุนที่จะเข้ามา มันควรเป็นทุนทางสังคมมากกว่า ถ้าเป็นทุนเงินมันจะเป็นดาบฟันสังคม ฟันไม่เลี้ยงเลย”
สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ชุมชนแห่งนี้มีความอยู่เย็นเป็นสุขก็คือ การมีผู้นำที่เข้มแข็ง มีความรู้ ยึดมั่นในศาสนา เป็นผู้สามารถประสานทุกอย่างด้วยหลักการเข้าด้วยกันอย่างลงตัวและเหมาะสม แบบอาจารย์สมชาย สมานตระกูล และกรรมการชุมชนนี่เอง จนปัจจุบันชุมชนแผ่นดินทอง คอยรุตตั๊กวา มีความสุขสงบร่มเย็นจนกลายเป็นชุมชนตัวอย่างที่ได้รับรางวัลมากมาย และเป็นสถานที่ศึกษาดูงานของหน่วยราชการต่างๆ องค์กรชุมชนท้องถิ่น และองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด จนชื่อเสียงแพร่หลายไปอย่างกว้างขวาง
|