1.หลักการและเหตุผล
1.1 กรุงเทพบ้านเราน่าอยู่....ได้อย่างไร
กรุงเทพมหานครเมืองหลวงที่มีความสำคัญของประเทศ และเป็นอีกเมืองที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญและต้องการพัฒนาให้กลายเป็นศูนย์กลางของโลกอีกเมืองหนึ่ง โดยพิจารณาได้จากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่หรือขนาดของการลงทุนทั้งของส่วนราชการกรุงเทพมหานคร ส่วนของรัฐบาล รวมทั้งภาคธุรกิจ เอกชนต่าง ๆ อีกมากมาย
ด้วยความที่เป็นเมืองใหญ่ที่ประกอบด้วยพื้นที่ย่อยถึง 50 เขตการปกครองจึงไม่มีข้อสงสัยอันใด หากเมืองใหญ่เมืองนี้จะเต็มไปด้วยปัญหาต่าง ๆ มากมายตามไปด้วย และถึงแม้ว่าที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้มีความพยายามในการแก้ข้อจำกัดต่างๆในการพัฒนาให้น้อยลงด้วยการรณรงค์ในการสร้างเครือข่ายคนรักกรุงเทพขึ้นมา ด้วยความหวังว่ากรุงเทพ ฯ เมืองนี้จะเต็มไปด้วยเรื่องดี ๆ หรือสิ่งดีๆ ที่เครือข่ายรวมพลคนรักกรุงเทพเข้ามาช่วยในการผลักดันเพื่อร่วมสร้างกรุงเทพสู่เมืองน่าอยู่
บางกอกฟอรั่ม (Bangkok Forum) ภายใต้มูลนิธิการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานพัฒนาเอกชนในกรุงเทพที่มีเป้าประสงค์เพื่อร่วมพัฒนากรุงเทพให้เป็นเมืองน่าอยู่ ความพยายามที่ผ่านมาโดยเฉพาะในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2547 ที่ได้ร่วมกับองค์กรภาคีร่วมพัฒนาอีกหลากหลาย มากกว่า 100 องค์กร ในการขับเคลื่อนกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของคนรักกรุงเทพเพื่อร่วมสร้างกรุงเทพมหานครให้น่าอยู่ ผ่านเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ BIG BANG บางกอก 2547 รวมพลคนรักกรุงเทพ และได้นำข้อเสนอจากเวทีดังกล่าวนำเสนอแก่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ในช่วงจัดกระบวนการดังกล่าวเป็นช่วงรอยต่อของการเลือกตั้งผู้ว่า ฯ สมัยปัจจุบัน) ผลการขับเคลื่อนดังกล่าวได้นำไปสู่การร่วมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชาวกรุงเทพให้มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น (ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการการส่งแสริมกระบวนการมีส่วนร่วมสู่การร่วมสร้างกรุงเทพสู่เมืองน่าอยู่) นอกจากนั้น บางกอกฟอรั่ม ฯ ยังได้ริเริ่มดำเนินโครงการ ฯ ร่วมกับภาคีเครือข่ายอีกหลายโครงการ อาทิ ร่วมกับเครือข่ายจิตอาสาในการพัฒนากระบวนการขับเคลื่อนจิตอาสาให้เบ่งบานทั่วสังคมไทย ทั้งนี้ ความชำนาญของบางกอกฟอรั่มฯ คือ การเอื้ออำนวยเชิงกระบวนการเพื่อให้คนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพูดคุยและดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน แต่ก็มิได้ละทิ้งในส่วนของการขับเคลื่อนเชิงความรู้เพราะเราเชื่อว่า การพัฒนาจะเกิดขึ้นได้ และนำไปสู่การยกระดับกระบวนการเรียนรู้ได้จริง ต้องมีการใช้ความรู้คู่ขนานกับการพัฒนาด้วย
ชมรมรักถิ่นเขตทวีวัฒนาเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความพยายามในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชาวกรุงเทพต่อการพัฒนาพื้นที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพของบางกอกฟอรั่มฯ ร่วมกับองค์กรภาคี เพื่อร่วมสร้างกรุงเทพสู่เมืองน่าอยู่ภายใต้วิถีแห่งเศรษฐกิจพอเพียง
1.2 แบบฉบับของการพัฒนา...แบบพื้นที่เป็นตัวตั้งเพื่อร่วมสร้างความดี
ชมรมรักถิ่นเขตทวีวัฒนา ถือเป็นหนึ่งในทุนทางสังคมที่บางกอกฟอรั่มฯ และภาคีเครือข่ายโครงการมูลนิธิชุมชนกรุงเทพ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายรวมพลคนรักกรุงเทพได้มีความพยายามในการผลักดันเพื่อสร้างพื้นที่ต้นแบบมูลนิธิชุมชนและเครือข่ายรวมพลคนรักกรุงเทพขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นับจาก พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา ในการดำเนินงานครั้งนี้ ถือเป็นการทำงานเพื่อเพิ่มศักยภาพและการต่อยอดให้แก่ “ ชมรมรักถิ่นเขตทวีวัฒนา” และเครือข่ายเยาวชนในเขตทวีวัฒนา ทั้งนี้ ในการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่าแกนนำเครือข่ายชุมชน และเครือข่ายเยาวชนในพื้นที่เขตทวีวัฒนามีความกระตือรือร้นในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งโครงการต้นกล้าความดี ฯ ก็จะช่วยหนุนเสริมให้โครงการมูลนิธิชุมชนและกระบวนการหนุนเสริมเพื่อพัฒนาเครือข่ายรวมพลคนรักกรุงเทพ สามารถดำเนินการได้อย่างดีมากขึ้น โดยผลลัพธ์ของการพัฒนาในทุกโครงการก็ล้วนแต่ช่วยเพิ่มศักยภาพให้พื้นที่เขตทวีวัฒนา เพื่อให้เขตทวีวัฒนามีความอยู่เย็นเป็นสุขและเป็นต้นแบบเพื่อการขยายผลต้นกล้าความดีให้เต็มพื้นที่กรุงเทพมหานคร |