หน้าแรก I ติดต่อบางกอกฟอรั่ม I เกี่ยวกับบางกอกฟอรั่ม I  English version   I  Webboard บางกอก

กิจกรรมอาสาสมัครที่โรงเรียนบ้านเกาะปอ อ.เกาะลันตา จ.กระบี่

ครรชิต จูประพัทธศรี
พย.2550


 
ระหว่างวันที่ 20-23 ตุลาคม 2550 อาสาสมัครจากชมรมกรุงไทยอาสา และบางกอกฟอรั่ม รวม 9 ชีวิต
ได้เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปทำกิจกรรมอาสาสมัครที่โรงเรียนบ้านเกาะปอ อ.เกาะลันตา จ.กระบี่
เส้นทางไปทำงานกิจกรรมอาสาสมัครในครั้งนี้ค่อนข้างไกลมากจากกรุงเทพ เหล่าอาสาสมัครต้องเดินทาง
ล่องลงใต้กว่า 800 กิโลเมตรกว่าจะถึงจังหวัดกระบี่ จากจังหวัดกระบี่ต้องนั่งแพขนานยนต์จากแผ่นดินใหญ
่ไปยังเกาะลันตาน้อย ก่อนจะนั่งแพขนานยนต์อีกครั้งไปที่เกาะลันตาใหญ่ และจากเกาะลันตาใหญ่
ก็ต้องนั่งเรือที่ชาวบ้านมารับไปที่เกาะปอ  รวมแล้วต้องเดินทางหลายต่อ กินเวลาหลายชั่วโมง
เป็นระยะทางรวมกว่า 900 กิโลเมตร

โรงเรียนบ้านเกาะปอ เป็นโรงเรียนเพียงแห่งเดียวบนเนื้อที่ 900 ไร่ของเกาะปอ เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล
ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2505 โดยชาวบ้านได้ร่วมกันบริจาคที่ดิน สิ่งของ
และก่อสร้างอาคารชั่วคราวขึ้น 1 หลัง ปัจจุบันมีการขยายอาคารเรียนเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันเกาะแห่งนี้มีครัวเรือน
ทั้งหมดประมาณ 104 ครัวเรือน ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม..ประกอบอาชีพทำประมงชายฝั่ง..
และรับจ้างกรีดยางพารา

โรงเรียนบ้านเกาะปอไม่ต่างจากโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารอื่นๆ ที่ครูนักเรียนต้องเผชิญปัญหาต่างๆ
ตั้งแต่การขาดแคลนด้านสาธารณูปโภค นอกจากนี้ยังต้องเสี่ยงภัยอันตรายในฤดูมรสุม ส่งผลให้บุคลากร
ขอย้ายบ่อย จนกลายเป็นอุปสรรคในการเรียนการสอน ปัญหาสภาพพื้นที่ไม่สะดวกในการเดินทางและขนส่ง
ทำให้การติดต่อประสานงานทางราชการล่าช้า และทำให้นักเรียนขาดโอกาสในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้รอบตัว
ข้อมูล ข่าวสาร แม้กระทั่งการจัดซื้ออุปกรณ์การศึกษาอย่างกระดาษ ก็กลายเป็นปัญหา

“ถ้าตอนนี้กระดาษ A4 ที่ใช้ในโรงเรียนหมดลง ก็จะต้องใช้เงินงบประมาณเป็นจำนวน 1,500 บาทที่จะซื้อ
กระดาษ 1 รีมมาใช้” อาจารย์บัญชา แสงไชยศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเกาะปอ เล่าปัญหาของโรงเรียนให้ฟัง
“เพราะว่าที่นี่อยู่ไกลจากเมืองกระบี่มาก รวมค่ารถ ค่าเรือ ค่าน้ำมันที่จะเดินทางไปซื้อกระดาษแล้ว
ก็จะใช้เงินประมาณนี้ครับ”

การเดินทางในครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจาก การได้มีโอกาสมาเยือนเกาะปอของเจ้าหน้าที่บางกอกฟอรั่ม 3 คน
ที่ติดสอยห้อยตาม ผศ.ดร.โอภาส ปัญญา และ ดร.โสฬส ศิริไสย์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล ที่เข้ามาประเมินโครงการ
ของ UNDP ที่เกาะปอในช่วงเดือนพฤษภาคม 2550 และได้พบว่าคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในอาคารโรงเรียน
ถูกฟ้าผ่าเสียหายใช้การไม่ได้เลยแม้แต่เครื่องเดียว ทำให้เกิดผลกระทบต่อการทำงานของครูในโรงเรียน
และการพัฒนาการศึกษาของเด็กบนเกาะ ทำให้ทีมงานบางกอกฟอรั่มคิดว่าน่าจะทำอะไรสักอย่างเท่าที่ทำได้
และนั่นได้นำไปสู่การประสานงานกับชมรมกรุงไทยอาสา ของธนาคารกรุงไทย ที่มีใจรักที่จะทำกิจกรรม
อาสาสมัครอยู่แล้ว ทำให้โครงการกิจกรรมในครั้งนี้เกิดขึ้นมาได้ในที่สุด

ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเกาะปอ ต้อนรับพวกเราเมื่อเดินทางขึ้นมาถึงโรงเรียนบ้านเกาะปอในเวลาบ่ายโมงครึ่ง
ด้วยอาหารมื้อเที่ยงที่เป็นอาหารทะเลสดมากๆ จากทะเลรอบเกาะปอนั่นเอง  ระหว่างการเดินทางมาที่เกาะปอ
อาสาสมัครบางคนได้พบเรื่องราวของเกาะปอที่ถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม 50

ในบทความชิ้นนั้นได้กล่าวเอาไว้ว่า สัตว์น้ำในบริเวณรอบๆ เกาะ ได้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้งหลังจากที่ชาวบ้าน
ช่วยกันดูแลไม่ให้เรือประมงพาณิชย์ประเภทอวนลาก เข้ามาทำลายทรัพยากรทางทะเล ตลอดจนมีการกำหนดกติกา
ร่วมกันของชาวบ้านบนเกาะในการจับสัตว์น้ำ เมื่อพิจารณาจากสิ่งที่เราเห็นบนโต๊ะอาหารมื้อเที่ยงนั้น ทำให้รู้ได้ว่า
ในความเป็นจริงนั้น ไม่ได้เกินเลยไปจากที่นักข่าวได้เขียนเอาไว้แม้แต่น้อย

หลังอิ่มอร่อยกับอาหารมื้อเที่ยงแล้ว ทีมงานอาสาสมัครได้ติดตั้งคอมพิวเตอร์มือสองสภาพดี จำนวน 3 เครื่อง
ที่ได้รับบริจาคมาจากธนาคารกรุงไทย ทดแทนเดิมที่ชำรุดเสียหายทั้งหมด ทีมงานใช้เวลาไม่นานนัก
ก็เสร็จเรียบร้อย

 

ช่วงกลางคืน มีวงสนทนาระหว่างอาสาสมัครทั้ง 9 คน และแกนนำชุมชนบ้านเกาะปอ อีกประมาณ 10 คน ที่ห้องสมุด
ของโรงเรียนจากการประเมินด้วยสายตาคร่าวๆ และจากการฟังคำบอกเล่าจากแกนนำชุมชน ทำให้ทราบว่า
เกาะปอไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในความหมายดาษดื่นทั่วๆ ไป ประเภทที่ต้องมีรีสอร์ทหรูๆ
มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ นานา โดยมีคนพื้นเมืองมาทำงานตามรีสอร์ทเป็นคนปูเตียง และทำความสะอาด
เพราะเท่าที่ฟังแล้ว สามารถประเมินได้ว่า ชาวบ้านเกาะปอ มีศักดิ์ศรีมากกว่านั้นมาก..

เท่าที่เปิดดูหนังสือคู่มือท่องเที่ยวหลายๆ เล่ม ไม่มีการกล่าวถึงเกาะปอแต่อย่างใด เท่าที่เห็นก็มีเพียงเล่มเดียว
ที่กล่าวถึง แต่นั่นก็หลังจากที่ผู้เขียนบทความได้ขึ้นมาที่เกาะ และแกนนำชุมชนได้อธิบายให้ฟังถึงกฎระเบียบ
ของชุมชนที่เข้มงวดกับสิ่งแปลกปลอมจากภายนอก ที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมโทรมทางวัฒนธรรม

เราไม่ได้ต่อต้านการท่องเที่ยวนะ แต่การแต่งตัวเราจะเข้มหน่อย ที่นี่เราเป็นมุสลิมเกือบ 100 %
ถ้าคุณเข้ามาเกาะปอ การแต่งตัวของคุณต้องสุภาพ.. ถ้าคุณรับตรงนี้ไม่ได้ เราเชิญคุณกลับ เราทำอย่างนี้
เพื่อป้องกันเยาวชน อย่างนักศึกษาที่เข้ามาสำรวจ เราขอ
1.เรื่องการแต่งกาย คุณต้องแต่งกายสุภาพ
2.ไม่มีการพนัน
3.ไม่มีสิ่งมึนเมา คุณห้ามถือมา นั่นคือสิ่งที่เราห้าม ถ้าคุณทำได้ คุณมาได้ทุกหน่วยงาน
แต่ถ้าคุณปฏิบัติตามกฎไม่ได้...คุณกลับ อนาคตเราไม่รู้ว่า..อนาคตข้างหน้า แผ่นดินนี้เราจะรักษาไว้ได้นานเท่าไ
ร แต่เราก็ต้องทำ...
”  ครูประชีพ หมัดนุ้ย แกนนำคนหนึ่งกล่าวเอาไว้


ปัญหาหลักๆ อีก 3 เรื่องที่ได้ทราบจากวงสนทนาก็คือ เรื่องแพขนานยนต์ 2 จุดที่ทำให้การเดินทางล่าช้า
ขนาดที่ว่ามีชาวบ้านที่เจ็บป่วยแล้วไปรักษาที่โรงพยาบาลไม่ทัน เพราะต้องรอแพขนานยนต์ อีกเรื่องก็คือ
เรื่องการมีหนี้สินของชาวบ้านที่รวมกันแล้วทั้งเกาะประมาณ 6 แสนบาท นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องของผลกระทบ
จากการพัฒนาทางด้านท่องเที่ยว ที่เห็นได้ชัด และได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนก็คือเรื่องการบินขึ้นลง
ของเครื่องบินน้ำ ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการท่องเที่ยวของภาครัฐ ที่ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถวางอวน
จับสัตว์น้ำในทะเลได้ เพราะจะเป็นอันตรายต่อการบินขึ้นลงของเครื่องบินน้ำ คำถามที่ชาวบ้านและ
แกนนำชาวบ้านสงสัยก็คือ ทำไมชาวบ้านต้องมาคอยระวังกับเรื่องนี้ด้วย ทั้งๆ ที่เป็นผู้ที่มาอยู่ก่อน

เรื่องหนึ่งที่เครือข่ายชุมชนที่เราเป็นสมาชิกกำลังทำอยู่ก็คือ เรื่องนโยบาย เราทำเรื่องของ อพท.
อย่างที่เขาไปทำไนท์ ซาฟารี ที่เขาทำเป็นการท่องเที่ยวระดับ 5 ดาว 6 ดาว ความคิดนี้มันมาในสมัยรัฐบาลทักษิณ
แต่ตอนนี้ก็ยังอยู่ เราไปประชุม เขาบอกว่าหยุดแล้ว ไม่ทำแล้ว แต่ก็ยังเห็นเครื่องบินน้ำบินมาลงทุกวัน
ชาวบ้านจะเดือดร้อนนะ ชาวบ้านที่ทำประมงพื้นบ้าน การท่องเที่ยวมันเอื้อเฉพาะพวกเรือลำใหญ
่ เรือหัวโทงของชาวบ้านจะได้อะไร
” ครูประชีพ เล่าถึงสิ่งที่สร้างความวิตกกังวลให้กับชาวบ้านเกาะปอทั้งเกาะ

ตอนเราไปคุย เขาบอกว่ายกเลิกแล้ว ทักษิณไปแล้ว ปลอดประสพไปแล้ว แต่ความจริงคือมันเป็นพระราชกฤษฎีกา
มันยกเลิกไม่ได้ เกาะช้าง ภูกระดึง เขาก็ทำตู้มๆๆ เป้าหมายตอนนี้คือเกาะลันตา ต่อไปรถรางรอบเกา
ะ กระเช้าไฟฟ้าจะมา แล้วพี่น้องจะทำมาหากินยังไง ตาสีตาสา ชาวเลที่อยู่ริมหาดจะไปอยู่ไหน
พี่น้องจบป.4-ป.5 เขาไม่รับทำงานหรอก เพราะพูดอังกฤษไม่ได้ ต่อไปโปรเจ็คใหญ่ๆ ลงม
า พวกเราอยู่ไม่ได้ ตายอย่างเดียว ระหว่างเครื่องบินน้ำกับเรือหัวโทง ใครจะหลบใค
ร เราวางอวนกุ้งอะไรก็ไม่ได้

อาสาสมัครอย่างน้อย 2 ท่านได้อยู่คุยกับแกนนำชุมชนจนดึกดื่นค่อนคืน ทั้งสองคนเป็นนักธุรกิจเพื่อสังคม
ที่มีมุมมองในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างอาสาสมัครทั้งสองท่านกับแกนนำชุมชน
ในค่ำคืนนั้น จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ดีได้หรือไม่นั้น คงจะยังหาคำตอบไม่ได้ในขณะนี้ แต่อย่างน้อยที่สุด
ก็ได้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ขึ้นมาแล้วระหว่างชาวบ้าน กับคนนอกชุมชน
ที่มีมุมมองต่างออกไป

หากว่าด้วยเรื่องของ การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ (Corporate Social Responsibility)
หรือ CSR  แล้ว ตามหลักการที่ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผู้อำนวยการ สถาบันการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)
ได้กล่าวเอาไว้นั้น ไม่ได้ให้ความสำคัญกับกับการบริจาคสิ่งของมากเท่าใดนัก หากแต่ให้ความสำคัญ
กับกิจกรรมที่น้อมนำให้องค์กร และสมาชิกขององค์กร เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน/สังคม เกิดความใกล้ชิด
เกิดความร่วมมือกันในกิจกรรมของชุมชนหรือสังคม     โดยไม่ใช่กิจกรรมที่เป็นธุรกิจขององค์กร
นอกจากนี้ ศ.นพ.วิจารณ์ ยังกล่าวว่า กิจกรรม CSR น่าจะเป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่าง
สมาชิกขององค์กร กับสมาชิกของชุมชน/สังคม เป็นหลัก     และหากเป็นไปได้แล้ว กิจกรรม CSR
ควรเน้นการที่องค์กรเข้าไปร่วมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนให้แก่ชุมชน/สังคม   โดยเน้นการพัฒนาจากรากฐาน
ของชุมชน/สังคม การที่นักธุรกิจผู้ที่มีความรู้ เข้าไปทำกิจกรรมกับชาวบ้าน เพื่อที่จะทำให้สังคมชุมชนดีขึ้น
เท่าที่นักธุรกิจคนนั้นจะทำได้ เพราะความรู้และทักษะที่นักธุรกิจมีอยู่นั้น ต่างออกไปจากสิ่งที่ชาวบ้านมี
หากความรู้เหล่านี้ถูกนำมาใช้ประเมินวิเคราะห์สภาพปัญหาของชุมชน โดยเฉพาะบางเรื่องที่ชุมชนคิดไม่ออก
แก้ไม่ได้ แต่บางทีในสายตาคนนอกแล้ว ก็อาจจะมองเป็นเรื่องง่าย เพราะมันอาจจะไม่ยากเย็น
เกินความสามารถของนักธุรกิจเท่าไรนัก

ในระยะหลัง สังเกตได้ว่ากิจกรรมขององค์กรที่ทำเรื่องอาสาสมัคร อย่างเช่น เครือข่ายจิตอาสาที่ทำกันอยู่นั้น
มีแนวคิดว่าการที่เครือข่ายฯ พาอาสาสมัครลงพื้นที่ไปทำงานพัฒนานั้น ไม่ใช่เพื่อให้อาสาสมัครไป
เป็นผู้ให้แก่สังคม หากแต่มีจุดประสงค์เพื่อให้อาสาสมัครเป็นผู้รับรู้เรื่องราวของชาวบ้าน รับทราบ
ปัญหาของสังคม  เพื่อให้อาสาสมัครเกิดความเข้าใจ เพื่อวันหนึ่งข้างหน้า อาสาสมัครเหล่านั้น
จะได้กลายเป็นผู้ให้ที่รู้ว่าควรจะให้อะไร ให้อย่างไรกับชุมชนและสังคมต่อไปเพราะปัญหาบางอย่าง
จากการพัฒนาที่เกิดขึ้นในสังคมนั้น เกิดจากความไม่เข้าใจของผู้ให้เท่านั้นเอง

เวทีการสนทนาในคืนนั้น ดำเนินต่อไปจนดึกดื่น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างอาสาสมัคร
และแกนนำชุมชนบ้านเกาะปอดำเนินไปอย่างเข้มข้น บางเรื่องก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้
แต่บางเรื่องก็ได้ข้อสรุปในการดำเนินการต่อไป

 

Copyright@ 2006 Bangkok Forum
บางกอกฟอรั่ม เลขที่ 104, 106 ถ.แพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทร. 02-228-1362-3 และ 02-622-2316โทรสาร 02-228-1362 หรือ www.bangkokforum.net หรือ [email protected]