หน้าแรก I ติดต่อบางกอกฟอรั่ม I เกี่ยวกับบางกอกฟอรั่ม I  English version   I  Webboard บางกอก
กองทุนสุขภาวะแบบฉบับชาวทวีวัฒนา
โดย ตัวกวนบางกอก
 

ก่อนเริ่มเรื่อง....พวกเราอยากสร้างความเข้าใจคำว่า  “สุขภาวะ”  แบบชาวทวีวัฒนาก่อน  ซึ่งกว่าจะได้ความหมายของคำว่า “สุขภาวะ” แบบชาวทวีวัฒนานั้น   พวกเราได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการ และการประยุกต์ใช้ชุดเครื่องมือต่าง ๆ ทางสังคมอย่างหลากหลาย เพื่อศึกษาหาความหมายอย่างลึกซึ้งจากบริบทของพื้นที่   เพราะมิเช่นนั้น   จะหลงไปกับการสร้างความหมายจากสภาพปัญหาของพื้นที่เพียงแค่เห็นปรากฏการณ์   ดังกรณี    ที่พวกเราได้จัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อค้นหารูปลักษณะองค์กรประสานทรัพยากรภายในเขตทวีวัฒนา    ด้วยการระดมปัญหาที่เกิดขึ้นในเขตทวีวัฒนา    ซึ่งมาพบภายหลังว่า   กระบวนการดังกล่าวยังไม่ลุ่มลึกพอที่จะขุดค้นความหมายของคำว่า “สุขภาวะ”  และ  “สภาพปัญหาของพื้นที่ได้จริง”  โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีบริบทที่ทับซ้อน     ดังเช่นพื้นที่ชายขอบกรุงเทพ ฯ  ที่หลายท่านอาจนึกไม่ถึง    อาจเห็นแต่ภาพว่ายังเป็นพื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชนบท   ดังนั้น   น่าจะขับเคลื่อนได้ง่ายมากกว่าพื้นที่ใจกลางเมืองกรุงเทพ ฯ เช่น พื้นที่หรือกลุ่มคนที่เป็นชนชั้นกลางและได้รับการศึกษา (Well Educated)  แต่ในความเป็นจริงแล้ว สภาพพื้นที่ของคนชายขอบกรุงเทพ ฯ ถูกกดดันหรือกดทับด้วยประเด็นต่าง ๆ มากมาย รวมทั้ง  การที่ยังปรับตัวไม่ทันตามกระแสการพัฒนาที่มุ่งพัฒนากรุงเทพ ฯ เป็นเมืองขนาดใหญ่  จึงทำให้ การค้นหาความหมายที่มาจากการให้ความหมายตามบริบทหรือสภาพที่ต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบันนั้นเป็นเพียงแค่การสะท้อนในเชิงปรากฏการณ์ หรือการจำข้อมูลมาบอกเล่า แต่มิใช่สิ่งที่เป็นความกังวล ความอึดอัด หรือเรียกว่าเป็น “ของจริง” ได้ ดังนั้น   จึงต้องใช้กระบวนการที่ลุ่มลึกมากพอที่จะทำให้ข้อสะท้อนที่ออกมา ไม่เป็นเพียงแค่ปรากฏการณ์

คณะทำงานโครงการสนับสนุนการก่อตั้งกองทุนสุขภาวะกรุงเทพ  ได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการค้นหาความหมาย จากการใช้วิธีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการมาเป็นกระบวนการพูดคุยอีกแบบหนึ่ง ซึ่งก็คือ กระบวนการ Dialogue ที่นำมาใช้ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา  แต่มิได้หมายความว่า กระบวนกาอื่น ๆ เช่น การจัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการนำมาใช้ไม่ได้    เพราะเราสามารถนำประเด็นหรือความคิดเห็นที่ออกมาจากการใช้กระบวนการประชุมนั้น ๆ  นำมาวางเป็นฐานของข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์สภาพบริบทพื้นที่

สิ่งสำคัญของการค้นหาความหมายในเรื่องใด ๆ ก็ตาม คือ “การออกแบบกระบวนการในการค้นหา”   หากขาดซึ่ง การจัดการ เชิงกระบวนการ (Setting) เพื่อการออกแบบกระบวนการไม่ดีพอแล้ว  รวมทั้งการรู้จักมักคุ้นกับแกนนำในพื้นที่ไม่ลุ่มลึกพอ  จะทำให้ การได้มาซึ่ง หัวใจของการขับเคลื่อนให้เกิดให้ความหมาย หรือคุณค่าเพื่อการร่วมสร้าง “กองทุนสุขภาวะ”  ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นธรรมชาติและยั่งยืน

จากการใช้กระบวนการ Dialogue อย่างเข้มข้นในการขุดค้นความหมาย และการให้คุณค่าของคำว่า “กองทุนสุขภาวะ” ของชาวเขตทวีวัฒนาในช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2549 - เดือนมีนาคม พ.ศ.2550 พบว่า คำว่า “สุขภาวะ” ของชาวทวีวัฒนา   คือ การดูแล เอาใจใส่ซึ่งกันและกัน เพราะปัญหาด้านสุขภาวะของคนทุกวันนี้ คือ การที่คนในชุมชนไม่สนใจกัน ไม่แคร์กัน ไม่ได้สนใจว่าคนอยู่กันอย่างไร จะมีชีวิตอยู่กันอย่างไร ต่างคนมุ่งหน้าทำมาหากิน อิจฉาริษยากัน ไม่ค่อยฟังกัน  นี่คือปัญหาสุขภาวะ แต่ถ้าเราสามารถใช้พื้นที่เล็ก ที่เราเรียกว่า “กองทุนสุขภาวะ” มาเริ่มดูแล เอาใจใส่กันมากขึ้นก็น่าจะดี”  (คุณวิสิทธิ์  สุรชัยสิขวิทย์)

การให้ความหมาย “สุขภาวะ” ในมิติเรื่องของ “การดูแลซึ่งกันและกัน” หรือ “การแคร์กัน การห่วงใย เอาใจใส่ทุกข์สุข”    นั้น   สามารถมองลึกในระดับภาพรวมของทั้งสังคมไทย ที่สภาพสังคมในปัจจุบันมีความแตกแยก ต่างคนต่างอยู่ และถูกวัตถุครอบงำ  ทำอะไรต้องมีวัตถุมาเป็นเครื่องจูงใจ   ถึงจะทำ  ไม่ทำด้วยใจ  หรือทำเพราะอุดมการณ์

 
Copyright@ 2006 Bangkok Forum
บางกอกฟอรั่ม เลขที่ 104, 106 ถ.แพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทร. 02-228-1362-3 โทรสาร 02-228-1362 หรือ www.bangkokforum.net หรือ [email protected]