หน้าแรก I ติดต่อบางกอกฟอรั่ม I เกี่ยวกับบางกอกฟอรั่ม I  English version   I  Webboard บางกอก

แกะร่องรอยกระบวนการเคลื่อนงาน
3 ปี บางกอกฟอรั่ม สู่การเปิดพื้นที่สาธารณะ
ชุมชนสามแพร่ง
 
โดย ตัวกวนบางกอก       หน้าที่ 1 / 2 / 3 / 4 / 5

 

เมื่อพูดถึงชุมชน “ สามแพร่ง อันประกอบด้วยแพร่งภูธร แพร่งนรา และแพร่งสรรพศาสตร์” หลายคนคงนึกไม่ออกว่าแพร่งภูธร อยู่ตรงส่วนไหนของกรุงเทพ แต่ถ้าบอกว่า เป็นชุมชนที่อยู่แถวคลองหลอด หลังกระทรวงมหาดไทย หลาย ๆ คนก็จะเริ่มบอกว่า อ๋อ..... รู้แล้ว แต่หากให้รู้ชัด ๆ ต้องบอกว่า อยู่ใกล้ศาลเจ้าพ่อเสือ ตรงสี่แยกคอกวัวนั่นไง...

แล้วทำไมวันนี้ เราถึงอยากพูดถึงชุมชนสามแพร่ง โดยเฉพาะชุมชนแพร่งภูธรกับกระบวนการเคลื่อนงานของบางกอกฟอรั่ม เพื่อเปิดพื้นที่สาธารณะ มันเกี่ยวข้องหรือมีความสัมพันธ์กันอย่างไร...

ก่อนอื่น ต้องออกตัวก่อนว่า การเล่าเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อต้องการสื่อถึงความพยายามของพวกเรากลุ่มคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่รวมตัวกันเป็นองค์กร ที่เรียกหรือกำหนดตัวเองว่า “ บางกอกฟอรั่ม” และกระบวนการในการเคลื่อนงานที่ดูเหมือนไร้ระเบียบ แต่มีระเบียบเพื่อการจัดการตนเอง (self-organising) ในการเปิดพื้นที่สาธารณะที่ในที่นี้มีนัยยะในเรื่องของกระบวนการมีส่วนร่วมในการสร้างชุมชนน่าอยู่ของกลุ่มคนหลายฝ่าย โดยมีบางกอกฟอรั่มเป็นหน่วยงานเชื่อมประสานและสนับสนุนเชิงกระบวนการ

บางกอกฟอรั่มเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนเล็ก ๆ ที่ทำงานมาหลายปี แต่เริ่มมาตั้งสำนักงานอยู่ในบริเวณชุมชนแพร่งภูธรในราวต้นเดือนเมษายน 2547 ชุมชนแพร่งภูธรเป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่อยู่แถวเมืองเก่า เป็นชุมชนที่มีตึกสถาปัตยกรรมที่สวยงาม สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นชุมชนที่น่าอยู่ และหากเราใช้กระบวนการทางสังคมที่พวกเรามีทักษะ ก็น่าจะดึงศักยภาพที่ดี ๆ ของชุมชนออกมาร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่มากขึ้นได้

ในปีแรกที่อยู่ที่นี่ พวกเราไม่ค่อยมีบทบาทเกี่ยวข้องกับผู้คนในชุมชนเท่าไหร่ ซึ่งน่าจะคล้ายองค์กรพัฒนาเอกชนหลายแห่งที่อยู่ในชุมชนหรือในบริเวณใกล้เคียงกับชุมชนอื่น ๆ ในกรุงเทพ ที่ไม่ได้ทำงานร่วมกับชุมชนที่ตนเองอยู่เท่าไหร่นัก อาจเนื่องมาจากตัวงานหรือข้อจำกัดบางประการของพื้นที่นั้น ๆ

พวกเราก็เช่นเดียวกัน ในช่วงแรกของการมาอยู่ที่นี่ พวกเรายุ่งกับการจัดการหรือการขับเคลื่อน “ เครือข่ายรวมพลคนรักกรุงเทพ” ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า Big Bang 2547 ที่ถือว่าเป็นกระบวนการเปิดพื้นที่ทางสังคมให้กับคนกรุงเทพ (แต่ยังไม่ได้ดึงคนข้างในชุมชนแพร่งภูธรหรือชุมชนสามแพร่ง เขตพระนคร เข้ามาข้องเกี่ยวเท่าไหร่นัก)

พวกเราเริ่มกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชนแพร่งภูธรและพื้นที่ใกล้เคียงได้อย่างไร ????

หากย้อนความคิดไปน่าจะเป็นในช่วงที่ พวกเรามีความคิดจะทำ “ ร้านกาแฟศิวิฆคาเฟ่” (โครงการศิวิฆคาเฟ่) ในช่วงประมาณปลายปี 2547 และในเวลาดังกล่าวก็ได้เริ่ม โครงการร้านกาแฟด้วยการก่อสร้างลานกาแฟ (พื้นที่ข้างล่างสำนักงานบางกอกฟอรั่ม) เพื่อจัดเป็นร้านกาแฟศิวิฆคาเฟ่ เราได้รับการบริจาคจากผู้หลักผู้ใหญ่หลาย ๆ ท่าน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างและตกแต่งสถานที่บางกอกฟอรั่มให้เป็นร้านกาแฟ ที่จะใช้เป็นพื้นที่ที่สามารถเอกเขนกพูดคุยกันในเรื่องราวต่าง ๆ พร้อมดื่มกาแฟและกินขนมนมเนยต่าง ๆ ได้

หลังการก่อสร้างเพื่อดำเนินการอย่างจริงจัง กลับไม่เป็นไปดังคิด เนื่องจาก บริเวณพื้นที่สามแพร่ง (แพร่งภูธร แพร่งนรา และแพร่งสรรพศาสตร์) ที่ส่วนมากจะเปิดร้านอาหาร ร้านขายกระเป๋าเดินทาง ขายรองเท้า ร้านชุบเงิน ร้านขายอุปกรณ์สังฆภัณฑ์ ซึ่งค้าขายกันมานานมากกว่า 15 ปี ดังนั้น การทำร้านการใช้ร้านกาแฟเพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะจึงยังไม่ตอบโจทย์ตามบริบทของพื้นที่และสถานการณ์มากนัก เพราะหากประเมินจากกลุ่มลูกค้าหรือผู้ที่จะมาใช้บริการซึ่งโดยส่วนมากจะทำงานราชการ ทำงานเป็นลูกจ้างตามโรงงานขนาดเล็กที่อยู่ภายในพื้นที่ หรือบ้างก็ประกอบอาชีพค้าขายแบบหาเช้ากินค่ำ ที่ไม่ค่อยมีเวลาและงบประมาณในกระเป๋ามากเพียงพอที่จะมานั่งจิบกาแฟ กันสักเท่าไหร่

ในทางกลับกันการจะให้คนภายนอกเข้ามานั่งกินกาแฟ ก็เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะพื้นที่ข้างในชุมชนมีพื้นที่จอดรถจำกัด หากจะเดินทางมาเองก็ค่อนข้างลำบาก อยู่ไกลทั้งรถประจำทางและรถไฟฟ้า ประกอบกับภายนอกพื้นที่มีร้านกาแฟ หรือร้านนม-ขนมปัง (เช่น ร้านมนต์นมสด ร้านนมโจ ฯลฯ) ที่ดึงดูดเด็กและคนรุ่นใหม่ได้ดีกว่า ดังนั้น พื้นที่ร้านกาแฟศิวิฆคาเฟ่จึงเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่พบ จากที่เคยคิดว่าจะนำคนข้างนอกมาเปิดพื้นที่สาธารณะข้างในชุมชน เพื่อให้คนภายนอกเข้ามาช่วยสร้างพื้นที่ให้มีชีวิตชีวา เราก็เริ่มคิดใหม่ ด้วยการออกแบบโจทย์ใหม่ว่า หากจะสร้างศักยภาพของพื้นที่เพื่อวางรากฐานกระบวนการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่สอดคล้องกับการพัฒนาที่เรียกว่า “ การพัฒนาที่ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง” ควรต้องเริ่มจากการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะจากคนข้างในพื้นที่ก่อน ดังนั้น เพื่อให้เกิดความสอดคล้องของโจทย์ใหม่ โครงการจึงเปลี่ยนชื่อจาก “ โครงการร้านกาแฟศิวิฆคาเฟ่” เป็น “ โครงการเด็กคาเฟ่” โดยมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มเด็กและเยาวชนในพื้นที่แพร่งภูธร เราใช้กลยุทธ์แรก คือ การสร้างกลุ่มแกนนำเด็ก ผ่านกระบวนการงานศิลปะและการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

Copyright@ 2006 Bangkok Forum
บางกอกฟอรั่ม เลขที่ 104, 106 ถ.แพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทร. 02-228-1362-3 โทรสาร 02-228-1362 หรือ www.bangkokforum.net หรือ [email protected]