หน้าแรก I ติดต่อบางกอกฟอรั่ม I เกี่ยวกับบางกอกฟอรั่ม I  English version   I  Webboard บางกอก
วง Dialouge ชุมชนลัดมะยม
แขวงบางระมาด เขตตลิ่งชัน
 
อ.นรินทร์ น้อยรักษา เป็นเกษตรกรโดยสายเลือดในเขตบางบอน มาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ หลังลาออกจาก
งานราชการครูแล้ว อ.นรินทร์ ก็ได้หันมาทำการเกษตรเต็มตัวที่สวนน้อยรักษา   โดยมีผลผลิตตัวหลักได้แก่
มะม่วงพันธุ์ขาวนิยม ซึ่งเป็นมะม่วงที่มีส่วนผสมระหว่างมะม่วงพันธุ์เขียวเสวย และน้ำดอกไม้ ที่ผ่านมา

อ.นรินทร์ได้เป็นแกนนำในการจัดงานเปิดสวนชวนกินมะม่วงไปแล้วเมื่อปี 2550 และกำลังจะจัดงานอีกครั้ง
ในวันที่ 14-16 มีนาคม 2551 เพื่อทำให้เกิดตลาดขึ้นมาในชุมชน ที่ทำให้เกษตรกร ตลอดจนผู้ผลิตสินค้า
โอทอป-สินค้าชุมชน ซึ่งเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนนั่นเอง ได้มีพื้นที่ในการจำหน่ายสินค้า อันจะทำให้เกิดผลดี
ต่อเศรษฐกิจของชุมชน และเกิดการแบ่งปันความสุข ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่หาได้ยากมากขึ้นทุกวันในสังคมกรุงเทพฯ

พื้นที่ในบริเวณชุมชนบ้านนายเหรียญ แขวงบางบอน เขตบางบอน ที่เป็นที่อยู่ของ อ.นรินทร์ แห่งนี้ เดิมเคยเป็น
นาข้าวมาก่อน จากนั้นได้เปลี่ยนมาเป็นสวนส้มเขียวหวาน ส้มโอ ส้มเช้ง ประมาณปี 2512-2528  สำหรับการ
ทำสวนไม้ดอก ที่ยังคงเหลืออยู่ในพื้นที่ปัจจุบันนี้ ได้แก่ ดอกรัก ดอกจำปี และกล้วยไม้ ส่วน อ.นรินทร์ นั้นได้
ทำสวนมะม่วงพันธุ์ “ขาวนิยม” เป็นหลัก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 เป็นต้นมา
 
ในช่วงประมาณปี 2530-2531 ในสมัยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ชาติชาย ชุณหะวัณ  ชาวบ้านบางคนได้ขายที่ดิน
แล้วไปซื้อที่อยู่ตามชานเมือง หรือต่างจังหวัด ทำให้เกิดการเปลี่ยนสภาพจากสวนมาเป็นห้องเช่า บ้านจัดสรร
โรงงานอุตสาหกรรม และอาคารพาณิชย์ที่สร้างขึ้นมาใหม่เป็นจำนวนมาก และมีคนจากพื้นที่อื่นเข้ามาอาศัยอยู่

สภาพสังคมที่นี่เป็นอย่างไรบ้าง
เดิมเป็นสังคมที่เคยช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกัน สมัยทำนา ที่นี่จะเป็นจุดศูนย์รวมของชุมชนในพื้นที่บางบอน หนองแขม 
นาแปลงตรงนี้ 50 ไร่ ดำเสร็จภายในวันเดียว มีแขกมาช่วยกัน 200 กว่าคน สมัยก่อนยังใช้เรือในการเดินทาง
เรือนี่ไม่ต้องจ้าง เพียงแต่ออกค่าน้ำมันให้ แขกที่มาช่วยก็เลี้ยงข้าวมื้อกลางวัน มื้อเย็น เป็นสังคมช่วยเหลือ
เอื้อเฟื้อกัน การทำนาในพื้นที่ตรงนี้ จะมีบ่อพักน้ำ ซึ่งมันจะกลายเป็นบ่อพักปลาในฤดูใกล้เก็บเกี่ยว
พอดำนาเสร็จ จะเกิดปลาตามธรรมชาติหลายชนิด                  
พอใกล้ฤดูเก็บเกี่ยวเราก็จะเปิดน้ำออก พอเปิดน้ำออกปุ๊บ ปลาก็จะไปรวมในบ่อ พอเกี่ยวข้าวกันหมดแล้ว คนในละแวกนี้ก็มาจับปลากัน จับเสร็จก็แบ่งกันไป เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่มีการขายเหมือนกับปัจจุบัน
เพราะฉะนั้น ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนในสมัยดั้งเดิมจะเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
การที่เราอยู่ร่วมกันได้  มีความเอื้ออาทรต่อกัน มีการแบ่งปันกัน แม้กระทั่งความสุขที่เราสามารถแบ่งปัน
กันได้ก็แบ่งปันกัน  

อันนี้เป็นเหตุผลหนึ่งหรือเปล่าที่ทำให้อาจารย์อยากจะทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาสังคม
มันเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในใจ แล้วมันค่อยๆ ออกมา สิ่งต่างๆ ที่เราเคยทำมาครั้ง บรรพบุรุษเราเคยทำมา  แล้วมันขาด
อะไรบางอย่างออกไป ทำมาถึงวันนี้แล้ว เราพอมีกำลัง มีอะไรแล้ว.. สิ่งที่เมื่อก่อนเราฝันว่าจะได้โน่นได้นี่ อยากจะทำโน่นทำนี่ก็ทำไม่ได้ แต่การที่เราเอื้อเฟื้อคนโน้นคนนี้ การที่เราประสานเรื่องโน้นเรื่องนี้ให้ระหว่าง
ที่เขาทำไม่ได้ แต่เราช่วยเหลือเขาได้ สิ่งตอบแทนจริงๆ มันไม่เกิดจากคนนั้นโดยตรง แต่มันเกิดจากคนอื่น
ที่เขามองเห็นอะไร หรือจะมีบางอย่างมาเป็นแรงดลบันดาลอะไรที่ไม่สามารถตอบได้ แต่มันก็มีอะไรที่ดีๆ
กลับมา จากที่เราให้อะไรที่ดีๆ กับคนอื่น มันเกิดขึ้นมาเอง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำ สิ่งที่เราไม่ได้หวัง
ประโยชน์จากใคร จากที่ต้องตอบแทนมาเป็นทรัพย์สินเงินทองอะไรอย่างนี้  มันก็กลับเข้ามาเป็นอย่างอื่นบ้าง
บางครั้งมันเป็นการบอกต่อระหว่างคน มีอะไรก็พึ่งพาคนนี้ คนนี้ก็ช่วยได้

คล้ายๆ กับเป็นความพยายามในการสร้างความสัมพันธ์แบบดั้งเดิมขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
บางครั้งเราช่วยโดยตรงไม่ได้ แต่เรามีเพื่อน มีพี่ มีน้อง ที่จะช่วย การที่เราคิดอยู่คนเดียว บางครั้งคิดไม่ออก
แต่มีคนนั้น คนนี้ช่วยคิด เป็นความช่วยเหลือกัน เป็นความเอื้ออาทรที่มีต่อกันแบบลูกโซ่ และก็เกิดอะไรดีๆ ขึ้น
คนนี้เราช่วยไม่ได้ ก็บอกเพื่อนเราช่วย พอเราเดือดร้อนบ้าง เขาช่วยได้..เขาช่วย เขาช่วยไม่ได้..เขามีเพื่อน
มันก็โยงใยต่อไปเรื่อย ขยายวงกว้างออกไป มันก็มาจากการที่เราเอื้ออาทร เราจะเป็นผู้ให้อย่างเดียวก็ไม่ใช่
เป็นผู้รับอย่างเดียวก็ไม่ใช่  ต้องเป็นทั้งสองอย่าง

อันนี้เป็นที่มาของแนวคิดในการเปิดสวนชวนกินมะม่วงขาวนิยม ด้วยหรือเปล่า?
ใช่ครับ เป็นที่มาของการเปิดสวนฯ เพราะในสภาพกรุงเทพหาธรรมชาติยาก และมีอีกหลายอย่างที่คนกรุงเทพ
หรือคนที่มาอยู่กรุงเทพไม่ค่อยเห็น การแบ่งปันความสุข และอะไรอีกหลายอย่าง เป็นเรื่องละเอียดอ่อน บางครั้ง
การมาเห็นต้นไม้ต้นหนึ่ง อาจช่วยให้คนที่รู้สึกร้อน หรือมีอารมณ์ร้อน เกิดเป็นอารมณ์ที่เย็นลงได้ เกิดความคิดที่จะแก้ปัญหาอะไรบางอย่างได้ บางครั้งมีลูกค้ามา บอกว่า อาจารย์..ผมขอมานั่งเล่นนั่งพัก
ในสวนนี้ได้ไหม ได้..มาเลย ถ้าสวนนี้ทำให้คุณผ่อนคลายได้ และคิดอะไรออกได้..มาเลย บางครั้ง
เราก็ช่วยเขาแก้ปัญหาได้เหมือนกัน เขาก็ช่วยเราได้ เราก็ช่วยเขาได้ แลกเปลี่ยนกัน บางครั้ง..ผงเข้าตา
ไม่สามารถที่จะเอาออกได้ด้วยตัวเอง มันต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน

งานเปิดสวนฯ นี่ มันจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชนอย่างไรต่อไป
การทำงานชุมชนได้ บางครั้งเราก็ต้องทำเป็นตัวอย่าง เราจะไปชี้นิ้วบอกเขาว่า คุณต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้
ชี้นำไม่ได้ แต่เราเป็นผู้ทำให้เขาเห็น ต่อไปที่จะให้ทางกลุ่มแม่บ้าน พวก OTOP พวกผลผลิตทางการเกษตร
ผลิตภัณฑ์ชุมชนแปรรูปที่อยู่บางบอน กับพื้นที่ใกล้เคียง เขาได้มาเห็น อย่างน้อยเขาก็มีตลาดแล้ว ซึ่งจริงๆ
แล้วถ้าเราจะทำเองทั้งหมด มันก็ไม่สะดวกนัก แต่คนที่มา เขาก็มีตลาดกว้างขึ้น เราก็ได้ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อ
แขกที่มาในงานก็ได้รับอะไรที่หลากหลาย ไม่ใช่มาแค่มากินมะม่วงอย่างเดียว

มองเรื่องความสุขที่ยั่งยืนของพื้นที่บางบอนว่าอย่างไร
การเรามีต้นไม้ ถึงแม้ไม่มากนัก แต่ถ้ารักษาเอาไว้ ต้นไม้ให้อะไรหลายๆ อย่างกับคน ต้นไม้ให้ร่มเงา
ให้ทั้งผลผลิต ให้ทั้งความเยือกเย็น สามารถให้ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไปยังบุคคลต่างๆ ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ก็พยายามรักษาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นสวน ให้เป็นที่พักผ่อน ให้ความรู้ ให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ตอนนี้มีนก
และมีอะไรหลายอย่างที่เป็นธรรมชาติเข้ามา เพราะเขารู้ว่าอยู่ตรงนี้แล้วเขาปลอดภัย เขาก็อยู่
ไม่ใช่แค่มนุษย์ด้วยกันอย่างเดียว ทุกวันนี้เกือบทุกวันเราจะเห็นหิ่งห้อย  เพราะเราไม่ได้เน้นเคมี
ระบบนิเวศก็เริ่มกลับคืนขึ้นมา แต่กว่าจะได้มา ก็ต้องมีการปรับสภาพ

ถ้ามองออกไปรอบๆ รอบ คือมองที่ชุมชนแล้ว อาจารย์อยากให้ชุมชนนี้เป็นอย่างไร
อยากให้ชุมชนมีสิ่งที่ไม่ดีต่างๆ ให้น้อยที่สุด และให้มีความเอื้ออาทรกลับเข้ามา มีการดูแลช่วยเหลือเอื้อ
เฟื้อซึ่งกันและกันกลับมา มองเห็นผู้คนเป็นมิตร ไม่ใช่ว่า เห็นหน้าปุ๊บก็เป็นศัตรูกัน แค่นี้ก็น่าจะพอเพียงพอ

 
Copyright@ 2006 Bangkok Forum
บางกอกฟอรั่ม เลขที่ 104, 106 ถ.แพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทร. 02-228-1362-3 โทรสาร 02-228-1362 หรือ www.bangkokforum.net หรือ [email protected]