อย่างหนึ่งที่มูลนิธิข้าวขวัญเน้นมากๆ ก็คือเรื่องของการทำกลุ่ม ถ้าอบรมมาแล้ว ไม่มีการรวมตัวเป็นกลุ่มทำงานกัน ไม่มีการพูดคุยกันบ่อยๆ ไม่มีการแลกเปลี่ยนความรู้กัน ที่ไปอบรมมาก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะการทำงานคนเดียวนั้น ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้มาก แต่ถ้ามีการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการทดลองทำนาตามเทคนิควิธีที่เรียนรู้จากโรงเรียนชาวนาแล้ว ก็จะได้ผลดีกว่า
ความรู้เหล่านี้ แตกต่างไปจากความรู้กระแสหลักที่ทางราชการ หรือบริษัทของสารเคมีการเกาตรนำมาบอกกับเกษตรกร อย่างไรก็ตามความรู้ที่แตกต่างไปนี้ ได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่าเห็นผลจริง สำเร็จจริง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ดี หากจะมีการนำมาทดลองทำก่อนในแปลงนาขนาดเล็ก
เจ้าหน้าที่ทั้งสองคนของบางกอกฟอรั่มที่เข้ารับการอบรม คาดหวังว่า ความรู้ที่ได้จากการไปรับการอบรมในครั้งนี้ คงเป็นประโยชน์ในการทำงานกับชาวนาในเขตหนองจอก ซึ่งเป็นพื้นที่ทำนาผืนสุดท้ายของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เขตหนองจอก มีการทำนาข้าวที่ไม่มีการใช้สารเคมีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในอนาคตข้างหน้า ตามความหมายของคำว่าสุขภาวะของชาวหนองจอกที่ได้สะท้อนมาก่อนหน้านี้ว่า สุขภาวะของชาวหนองจอกคือ การได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่มีมลพิษ อาหารที่กินมีความปลอดภัย และสามารถเป็นครัวของกรุงเทพฯ ได้
|