หน้าแรก I ติดต่อบางกอกฟอรั่ม I เกี่ยวกับบางกอกฟอรั่ม I  English version   I  Webboard บางกอก
การจัดการความรู้แบบชาวท่าแพ จังหวัดสตูล
สู่กระบวนการขับเคลื่อนเครือข่ายกองทุนสุขภาวะ
โดย ตัวกวนบางกอก หน้าที่ 1 / 2 / 3 4
 

จังหวัดสตูล เป็นจังหวัดเล็ก ๆ ที่พวกเราไม่ค่อยมีโอกาสเดินทางไปกันสักเท่าไหร่ เท่าที่จำได้ เคยไปจังหวัดสตูล 2 ครั้ง ครั้งแรก ไปเที่ยวเกาะตะรุเตา และครั้งที่สองไปทะเลบัน หรือทะเลน้อย เข้าใจว่าพอกล่าวถึงตอนนี้ หลาย ๆ ท่านคงเริ่ม อ๋อ…. กันมากขึ้น เพราะหลาย ๆ คนคงเคยไปที่ท่องเที่ยวทั้งสองแห่งนี้กันแล้ว

พวกเราไปจังหวัดสตูลครั้งที่สาม เมื่อกลางเดือนมกราคม 2550 ที่ผ่านมา เราไปที่กลุ่มมูฮาบาลาต ตำบลท่าเเพ อำเภอท่าแพ ซึ่งอยู่ห่างอำเภอเมืองไม่มาก

กลุ่มมูอาบาลาต อาจเป็นชื่อที่หลายท่านไม่เคยได้ยิน หรือบางท่านอาจรู้จักกันบ้างแล้ว เมื่อเราไปถึงที่กลุ่ม ก็รู้สึกประทับใจกับการต้อนรับ เพราะตอนที่พวกเราประสานเพื่อขอศึกษาดูงาน เราคิดว่า คงมีแต่เฉพาะแกนนำมาคุยด้วยเพียงแค่ 1-3 คนเท่านั้น แต่เมื่อถึงเวลาจริง กลายเป็นมา ต้อนรับพวกเรากันประมาณ 20 กว่าคน จึงทำให้พวกเราประทับใจมาก

กลไกการสร้างความอยู่ดีมีสุขในชุมชน

เมื่อเริ่มพูดคุย เราเห็นถึงความเป็นมิตร ความมีน้ำใจของพี่น้องกลุ่มนี้ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มคนหนุ่มที่กระตือรือล้น มีอายุประมาณ 30 ปีขึ้นไป พี่ ๆ เพื่อน ๆ กลุ่มมูอาบาลาตเล่าให้ฟังว่า พวกเขาเกิดแรงบันดาลใจอย่างไรจนนำมาสู่การตั้งกลุ่ม

พี่ ๆ เพื่อน ๆ กลุ่มนี้เล่าให้ฟังว่า ปี 2546 เมื่อหมู่บ้านได้รับ “ กองทุนเงินล้าน” ซึ่งเงินทุนดังกล่าวไม่ช่วยทำให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนเท่าที่ควร แต่กลับส่งผลให้ชุมชนเล็ก ๆ ที่เคยโอบอ้อมอารีต่อกัน กลายเป็นเริ่มขัดแย้ง และนำไปสู่ความไม่สามัคคีกัน

เหตุดังกล่าวจึงทำให้กลุ่มคนหนุ่มเหล่านี้มารวมตัวกัน โดยเมื่อแรกเริ่มมีแค่ 4-5 คนเท่านั้น แล้วอาศัยการนั่งคุยกันใต้ต้นมะม่วงใหญ่ ริมร้านน้ำชา (กาแคว) นั่งคุยกันจากกลางวันยันตกดึกเกือบทุกคืน เพื่อคุยให้ตกผลึกถึงอุดมการณ์ร่วมของการรวมตัวกันว่าจะลุกขึ้นมาทำอะไร เพื่ออะไร เพื่อ “ ส่วนรวมหรือส่วนตัว”

หลังจากนั้นคน 4-5 คน ก็เริ่มค้นหาเพื่อนร่วมอุดมการณ์เพิ่ม จนได้จำนวนแกนนำบริหารกลุ่มจำนวน 15 คน ที่ได้มาจากการใช้กระบวนการพูดคุยคล้าย ๆ การ dialogue (กระบวนการสุนทรียสนทนา) หลังการละหมาดในตอนค่ำถึงกลางดึกของแต่ละวัน เพื่อกวนให้อุดมการณ์มีความเข้มข้น และนำไปสู่รูปธรรมการร่วมมือ

เมื่อพี่ ๆ เพื่อน ๆ จากกลุ่มมูอาบาลาตเล่าให้ฟังจนถึงตอนนี้ ยิ่งทำให้เรารู้สึกได้อย่างชัดเจนมากขึ้นถึง ความศรัทธา ความมุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่อท้องถิ่นอย่างจริงจัง โดยขอยกตัวอย่างรูปธรรมที่ชัดเจน คือเรื่องการแก้ปัญหาพ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อน้ำยางจากชาวบ้าน เมื่อแกนนำกลุ่ม ทั้ง 15 คน ได้นำสิ่งเหล่านี้มาคุยในช่วงกลางคืน จึงเกิดความคิดว่า ทำไมกลุ่มไม่เป็น “ เถ้าแก่กันเอง เป็นเถ้าแก่กันทั้งหมด” ด้วยคำถามประโยคเดียว นำไปสู่การทำ “ ธุรกิจของกลุ่ม” โดยกลุ่มเป็นผู้รับซื้อน้ำยางจากชาวบ้าน (ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำสวนยาง) โดยให้ราคาสูงกว่าราคาของพ่อค้าคนกลาง เพื่อดึงดูดให้ชาวบ้านมาขายน้ำยางให้ แต่นั่น....ก็ไม่เท่ากับการชี้แจงทำความเข้าใจกับคนในชุมชน ว่าทำไมกลุ่มต้องเข้ามาทำธุรกิจ เพื่ออะไร และจะนำเงินที่ได้จากราคาส่วนต่างจากการซื้อน้ำยางไปสร้างสวัสดิการต่าง ๆ ให้แก่สมาชิกที่เข้าร่วม ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ คนในชุมชนนั่นเอง

Copyright@ 2006 Bangkok Forum
บางกอกฟอรั่ม เลขที่ 104, 106 ถ.แพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทร. 02-228-1362-3 โทรสาร 02-228-1362 หรือ www.bangkokforum.net หรือ [email protected]