โครงการสนับสนุนการก่อตั้งกองทุนสุขภาวะกรุงเทพ โดยการสนับสนุนของ “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ” (สสส.) “ บางกอกฟอรั่ม ” และ “ เครือข่ายรวมพลคนรักกรุงเทพ ” เป็นโครงการพัฒนาต่อยอดความคิดมาจาก “ โครงการมูลนิธิชุมชนกรุงเทพ ” ที่ดำเนินการ นับจากเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๘ จนถึงเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ในช่วงดำเนินการดังกล่าวเป็นการศึกษาความเป็นไปได้เพื่อพัฒนาแนวความคิดเรื่อง “ มูลนิธิชุมชนกรุงเทพ ” ซึ่งข้อค้นพบในโครงการนี้ ทำให้เกิดความรู้เพื่อพัฒนาต่อยอดวิธีการดำเนินงานให้สอดคล้องกับรูปลักษณะของสังคมไทยมากขึ้น
จากข้อค้นพบดังกล่าวนำไปสู่การปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน รวมทั้ง ชื่อโครงการ ฯ จาก “โครงการมูลนิธิชุมชนกรุงเทพ” เป็น
“โครงการสนับสนุนการก่อตั้งกองทุนสุขภาวะกรุงเทพ” ที่เริ่มดำเนินการนับจากเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ เป็นต้นมา
“ สุขภาวะ ” คืออะไร
คำว่า “ สุขภาวะ ” มีความหมายที่ลึกซึ้งมากกว่า การมีร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บไข้ แต่ยังหมายถึงมิติ ความห่วงใย ใส่ใจซึ่งกันและกัน
คำว่า “ สุขภาวะ ” ที่เกิดขึ้น แล้วแต่การให้นิยาม ความหมาย หรือคุณค่าตามแต่ลักษณะ ของทั้งพื้นที่เชิงกายภาพ เช่น ครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน หรือพื้นที่ทางสังคม เช่น เชิงประเด็น ชุมชนออนไลน์ ดังเช่น “ ชมรมรักถิ่นเขตทวีวัฒนา ” ที่เกิดจากการรวมตัวของผู้นำชุมชนในเขตทวีวัฒนา ที่มองว่า คำว่า “ สุขภาวะ ” หมายถึง การดูแล การเอาใจใส่กันซึ่งกันและกัน เพราะปัญหาด้านสุขภาวะของคนทุกวันนี้ คือ การที่คนในครอบครัว ชุมชน หมู่บ้านไม่สนใจกัน ไม่แคร์กัน ไม่ได้สนใจว่าคนอยู่กันอย่างไร จะมีชีวิตอยู่กันอย่างไร ต่างคนต่างมุ่งทำมาหากิน ไม่ค่อยฟังกัน นี่คือปัญหาสุขภาวะ แต่ถ้าเราสามารถใช้พื้นที่เล็ก ๆ ภายในครอบครัว ชุมชน หมู่บ้านของแต่ละคน สร้าง “ กองทุนสุขภาวะ ” ด้วยการเริ่มดูแล เอาใจใส่กันมากขึ้น ก็น่าจะดี
หรือ “ ชมรมคนรักหนองจอก ” ที่รวมตัวกันอย่างหลวมๆ ของผู้คนในเขตหนองจอก ที่มองว่า “ สุขภาวะ ” คือ การกลับมาดูแลสภาพแวดล้อม รวมทั้งอาหารที่บริโภค ซึ่งทุกวันนี้ เราไม่ได้ใส่ใจหรือดูแลสิ่งเหล่านี้เลย เราไม่ใส่ใจว่าสภาพคูคลองจะเป็นอย่างไร เราไม่ได้สนใจว่า เราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ เราไม่ได้สนใจว่าอาหารที่เราบริโภคจะเป็นอย่างไร เราเพียงแค่ขอให้เราอยู่รอดไปวัน ๆ เราไม่สนใจว่า “ เพื่อนบ้าน ” ของเรา “ ครอบครัว ” ของเรา “ เด็กและเยาวชนของเรา ” หรือ “ ชุมชนของเรา ” จะเป็นอย่างไร เพราะเราเร่งที่จะทำมาหากิน เร่งที่จะหาเงินเพื่อซื้อวัตถุตามที่เราต้องการ
|