หน้าแรก I ติดต่อบางกอกฟอรั่ม I เกี่ยวกับบางกอกฟอรั่ม I  English version   I  Webboard บางกอก

เอกสารสรุปรายละเอียดการดำเนินโครงการ

 

หน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการ : บางกอกฟอรั่ม

ผู้ประสานงานโครงการ : นายครรชิต จูประพัทธศรี

ที่อยู่ : 104-106 ถ.แพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กทม. 10200

สถานที่ปฏิบัติงาน : บ้านน้ำเค็ม บ้าน ITV ตำบลบางม่วง และบ้านพรุเตียว ตำบลบางในสี อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา

ระยะเวลาปฏิบัติงาน : ระหว่างเดือน ธันวาคม 2549 ถึง กุมภาพันธ์ 2550

เหตุผลในการจัดทำโครงการ :

จากเหตุการณ์สึนามิในวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2547 ที่ผ่านมานั้น ได้สร้างความเสียหายและส่งผลกระทบต่อชีวิต ความเป็นอยู่ และสภาพจิตใจของประชากรกว่าหนึ่งแสนคน ที่อยู่ตามแนวชายฝั่งทะเลอันดามัน และหมู่เกาะต่าง ๆ ทางตอนใต้ของประเทศไทย และถึงแม้ว่ากลุ่มประชากรเหล่านี้ได้รับความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาทุกข์ภัยที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ก็อาจกล่าวได้ว่า ในบางพื้นที่นั้นยังอยู่ในระดับที่ยังไม่เพียงพอ หลาย ๆ ส่วนอยู่ในรูปลักษณะของการสังคมสงเคราะห์เพื่อการบรรเทาทุกข์เฉพาะหน้าและการแก้ไขปัญหาตามประเด็นปัญหาในพื้นที่ แต่หากเป็นกิจกรรมหรือโครงการที่มุ่งแก้ปัญหาในลักษณะต่อยอด พัฒนาศักยภาพ หรือวางแผนในระยะยาวแล้ว สามารถกล่าวได้ว่ายังมีไม่มากนัก นอกจากนี้ยังพบว่าองค์กรพัฒนาเอกชนบางส่วนที่ทำงานทางด้านพัฒนาชุมชนเริ่มถอนตัวออกจากพื้นที่ประสบภัยบ้างแล้ว

จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้น พบว่า เด็กและเยาวชนบางส่วนในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ ในเขตอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา อยู่ในสภาพเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสังคมต่างๆ เช่น ปัญหาการจับกลุ่มมั่วสุม ปัญหาการติดเชื้อเอดส์ ปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันสมควรของเด็กผู้หญิง ปัญหายาเสพติด ทั้งนี้การป้องกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้ทำได้ยาก เนื่องจากผู้ปกครองของเด็กบางส่วนไม่มีเวลาเอาใจใส่ดูแลเด็ก เพราะอยู่ในภาวะที่ต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่ ประกอบกับกระแสที่มาจากสังคมภายนอกที่ยั่วยุเด็กและเยาวชนให้ก้าวเดินในทางที่ผิด ซึ่งทั้งหมดนี้น่าจะส่งผลให้อนาคตของชุมชนที่ประสบภัยมีปัญหาในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่ง กลุ่มเด็กและเยาวชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ ที่กำลังเติบโตขึ้นมาเป็นอนาคตของชุมชน น่าจะเป็นกลุ่มที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้กับพื้นที่ประสบภัยได้ เนื่องจากเป็นกลุ่มประชากรที่พร้อมจะเรียนรู้ ที่จะคิดนอกกรอบอย่างสร้างสรรค์ และสามารถประยุกต์สิ่งใหม่ ๆ จากสังคมภายนอก เข้ามาใช้ผสมผสานกับสิ่งที่มีอยู่แล้วตามบริบททางสังคมของพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชุมชนโดยรวมต่อไป ทั้งนี้โดยผ่านการฝึกอบรมกระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งได้รับการออกแบบโดยบางกอกฟอรั่ม เพื่อให้ความรู้ เพิ่มทักษะ และสร้าง / ปรับทัศนคติเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ (Creativity ) สำหรับเยาวชน ซึ่งการฝึกอบรมประกอบด้วย การนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการคิดสร้างสรรค์ การทำงานของสมอง การใช้ความคิดสร้างสรรค์ในสถานการณ์ต่าง ๆ การทดลองแนวคิดร่วม การร่วมทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้ และการเพิ่มศักยภาพการทำงานของประชาสังคมด้วยความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการวางแผนพัฒนาโครงการทางด้านอาชีพหรือพัฒนาพื้นที่ให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชนได้ต่อไป

ลักษณะของโครงการ :

  • สำรวจและเชื่อมประสานข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนที่ประสบภัยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายขององค์กรหรือหน่วยงานพัฒนาในพื้นที่ อาทิ มูลนิธิศุภนิมิต องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • ร่วมกับองค์กรพัฒนาข้างต้นและแกนนำในพื้นที่ คัดเลือกกลุ่มเป้าหมายเด็กเยาวชนที่ประสบภัย และมีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาท้องถิ่นและศักยภาพของตนเองให้มีภาวะความเป็นผู้นำและมีระบบความคิดในการสังเคราะห์โครงการที่สร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น
  • ประสานความร่วมมือกับโรงเรียนและครอบครัวผู้ปกครองเยาวชนกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เด็ก เยาวชนได้เข้ามาร่วมในโครงการฯ
  • ออกแบบและเตรียมการอบรมกระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์บนฐานความต้องการและความเหมาะสมของพื้นที่ เพื่อให้ได้กรอบการทำงานที่ตรงกับเป้าประสงค์ และความต้องการพัฒนาของกลุ่มเด็กเยาวชนในพื้นที่ประสบภัยให้มากที่สุด
  • การอบรมกระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์ และ ร่วมสังเคราะห์โครงการที่เหมาะสมกับพื้นที่ประสบภัยโดยเด็กและเยาวชนกลุ่มเป้าหมาย
  • การประเมินผลอย่างมีส่วนร่วมที่ได้จากกระบวนการอบรมการคิดอย่างสร้างสรรค์
  • สรุปและเชื่อมประสานส่งต่อข้อเสนอโครงการความต้องการในการพัฒนาตนเองและพื้นที่ของกลุ่มเด็กและเยาวชนผู้ประสบภัยที่ได้จากกระบวนการอบรม (โครงการ) ให้กับผู้เกี่ยวข้อง อาทิ องค์กรพัฒนาด้านเด็ก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นๆ ทั้งที่อยู่ในและนอกพื้นที่

 ผลที่คาดว่าจะได้รับ :

1. เด็กและเยาวชนในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ ได้เพิ่มพูนศักยภาพด้านวิธีคิดอย่างสร้างสรรค์ อันนำไปสู่กระบวนการวางแผนในการพัฒนาท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วม

2. เด็กและเยาวชนในพื้นที่ประสบภัยสึนามิได้ฝึกฝนภาวะผู้นำ การทำงานเป็นทีมและสามารถทำงานกิจกรรมร่วมกันได้อย่างมีความสุข

3. หน่วยงาน/องค์กรในภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ประสบภัยได้รับทราบความต้องการในการพัฒนาท้องถิ่นของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ประสบภัย

4. เด็กและเยาวชนในพื้นที่ประสบภัยได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วม

5. เกิดเครือข่ายเด็กและเยาวชนเพื่อนำไปสู่การร่วมวางแผนพัฒนาพื้นที่ประสบภัยสึนามิผ่านโครงการที่เด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วมในการคิด
Copyright@ 2006 Bangkok Forum
บางกอกฟอรั่ม เลขที่ 104, 106 ถ.แพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทร. 02-228-1362-3 และ 02-622-2316โทรสาร 02-228-1362 หรือ www.bangkokforum.net หรือ [email protected]