หน้าแรก I ติดต่อบางกอกฟอรั่ม I เกี่ยวกับบางกอกฟอรั่ม I  English version   I  Webboard บางกอก
  
 

โครงการเด็กคาเฟ่ ตอน เปิดแพร่งภูธรสู่กระบวนการเรียนรู้เรื่องพื้นที่สาธารณะ

โครงการนี้เกิดขึ้นจากแนวคิดเรื่องการเปิดพื้นที่สาธารณะให้เป็นประโยชน์ต่อคนในพื้นที่เมืองเก่า เขตพระนครของ โครงการ “ ศิวิฒ ค่าเฟ ( Civic Cafe) ” ภายใต้การดำเนินงานของบางกอกฟอรั่ม โดยได้รับทรัพยากรสนับสนุนจากโครงการชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่-กรุงเทพมหานคร และโครงการมูลนิธิชุมชนกรุงเทพ (โครงการทั้งสองได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.) การเปิดพื้นที่ขึ้นมาใช้ก่อนที่จะเปิดร้านกาแฟเพื่อให้เป็นพื้นที่สาธารณะของคนเมืองเก่าเขตพระนครและคนในพื้นที่อื่น ๆ กิจกรรมที่จัดขึ้นถือว่าเป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่และเป็นการสร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อให้เด็ก เยาวชนและคนทั่วไปได้รู้จักก่อน

กลยุทธ์ในการชักชวนให้เด็กและเยาวชนเข้ามาใช้พื้นที่ “ ศิวิฒ ค่าเฟ ( Civic Cafe) ” นั้นต้องใช้กลวิธีสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเด็กในพื้นที่ ด้วยการนำกิจกรรมที่แปลก ใหม่ เข้ามาใช้สื่อสารกับเด็ก ทำให้เด็กใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ห่างไกลจากอบายมุข เกมส์ และยาเสพติด

กระบวนการแนวความคิดเกี่ยวกับการใช้พื้นที่สาธารณะ ดังกล่าวก่อเกิดเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมเพื่อเด็กในพื้นที่แพร่งภูธรและพื้นที่แพร่งใกล้เคียงได้แก่ แพร่งสรรพศาสตร์ และแพร่งนรา ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวสามารถสรุปได้ดังนี้

กิจกรรมที่ทำในโครงการเด็กคาเฟ่ ตอนเปิดแพร่งภูธรสู่กระบวนการเรียนรู้เรื่องพื้นที่สาธารณะ ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม แบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงที่ 1 ระหว่างวันที่ 20 มิถุนายน – 17 กรกฎาคม 2548 และช่วงที่ 2 ระหว่างวันที่ 25กรกฎาคม – 21 สิงหาคม 2548 สามารถสรุปกิจกรรมที่ดำเนินการได้ดังนี้

ช่วงที่ 1 ระหว่างวันที่ 20 มิถุนายน – 17 กรกฎาคม 2548 (จัดในวันจันทร์ พุธ และอาทิตย์)

ในช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงของการเริ่มต้นโครงการ เป็นการทดลองและเป็นการเปิดพื้นที่ให้เด็กได้เข้ามาใช้สถานที่ให้เกิดประโยชน์และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ กิจกรรมที่ดำเนินการในช่วงนี้เป็นกิจกรรมที่มีความหลากหลาย วัตถุประสงค์หลักของการทำกิจกรรม คือ เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานของเด็กแต่ละคนที่มาเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อค้นหาความชอบ และความต้องการเพื่อเป็นฐานในการทำโครงการในช่วงต่อๆไป การจัดกิจกรรมดังกล่าวจะแบ่งเป็นสัปดาห์ แต่ละสัปดาห์จะมีโจทย์ในการทำกิจกรรมแตกต่างกันออกไป เพื่อความหลากหลายและสร้างความตื่นเต้นให้กับเด็กๆที่เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งสามารถสรุปกิจกรรมที่ดำเนินการได้ดังนี้

สัปดาห์ที่ 1 สัปดาห์แห่งการทำความรู้จักเด็ก วันแรกของกิจกรรมได้นำเอาศิลปะเข้ามาให้เด็กๆได้แนะนำตัวเองและครอบครัวโดยให้เด็กๆวาดภาพครอบครัวของฉัน ประกอบกับการฉายภาพยนตร์การ์ตูนเพื่อความสนุกสนาน ในวันต่อมาเป็นการให้เด็กๆได้แสดงบทบาทสมมติตามจินตนาการโดยกำหนดคำศัพท์ 5 คำแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ซึ่งคำศัพท์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับชุมชน กลุ่มที่1 ประกอบด้วยคำว่า แพร่งภูธร ไอติม ความฝัน คนบ้า และร้านก๋วยเตี๋ยว ส่วนกลุ่มที่ 2 ประกอบด้วยคำว่า บ้าน นมโจ ร้านสายรุ้ง สนาม และรถโบราณ กิจกรรมนี้ส่งผลสืบเนื่องถึงกิจกรรมในวันต่อมาเนื่องจากว่าเด็กมีจินตนาการในการสร้างสรรค์ผลงานละคร จึงทำให้เกิดการแสดงละครเป็น 3 ตอนขึ้น และนำมาแสดงในวันต่อมา ในวันนี้เองก็ได้มีการให้เด็กใช้ศิลปะเข้ามาเป็นสื่อในการถ่ายทอดเรื่องราวของชุมชน โดยได้กำหนดหัวข้อในการวาดภาพของเด็กๆในเรื่อง “ ชุมชนของเรา ” กิจกรรมในสัปดาห์นี้ได้ทำให้ทราบถึงมุมมองของเด็กๆที่มีต่อตัวเองและชุมชน รวมถึงจินตนาการที่สร้างสรรค์ ผ่านภาพวาดทางศิลปะและการแสดงละครที่เด็กเป็นผู้คิดเนื้อเรื่องและเล่าเรื่องเอง นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความรู้จัก ทำความคุ้นเคยระหว่างเด็กๆและวิทยากรได้เป็นอย่างดี

สัปดาห์ที่ 2 สัปดาห์บันเทิง เมื่อได้ทำความรู้จักกับเด็กในพื้นที่แล้วสัปดาห์นี้จึงเป็นสัปดาห์ที่เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออก และให้ความบันเทิงอย่างเต็มที่ด้วยการให้เด็กๆ วาดภาพระบายสีตามจินตนาการและการแสดงละครตามจินตนาการของเด็กเอง สาระที่ได้จากการทำกิจกรรม คือ การที่ได้ร่วมกันทำกิจกรรมกับกลุ่มเพื่อนสร้างความคุ้นเคยกันภายในกลุ่มเด็กในชุมชน เสริมสร้างจินตนาการ ผ่านกิจกรรมต่างๆ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่ได้ให้เด็กแสดงความสามารถด้วยการให้เด็กได้ส่งภาพเข้าประกวดในหัวข้อ “ สุขภาพวัยรุ่นไทย ”

สัปดาห์ที่ 3 สัปดาห์ความเป็นไทย เอกลักษณ์ของไทยที่เด็กควรจะได้รู้จักและได้เล่น กิจกรรมในสัปดาห์นี้เกี่ยวข้องกับความเป็นไทย การละเล่นแบบไทย และการเรียนรู้นิทานพื้นบ้าน แบ่งกลุ่มให้เด็กๆแสดงละครพื้นบ้านที่เด็กรู้จัก เรื่องที่ได้แสดงประกอบด้วยเรื่องสุดสาครกับม้านิลมังกร เรื่องปลาบู่ทอง และเรื่องศรีธนญชัย การละเล่นที่เป็นกิจกรรมกลางแจ้ง คือวิ่งเปรี้ยว เดินกะลา และรีรีข้าวสาร สาระที่ได้จากการทำกิจกรรมคือ การได้รู้ว่าเด็กในชุมชนยังไม่ลืมความเป็นไทย กิจกรรมที่เกิดขึ้นสามารถคิดและต่อยอดกิจกรรมได้เป็นอย่างดี เช่นการแสดงละครเด็กๆก็สามารถเล่นได้ตรงตามเนื้อหาและมีความคิดสร้างสรรค์

สัปดาห์ที่ 4 สัปดาห์ศิลปะ สัปดาห์นี้เพื่อให้เด็กๆได้มีทักษะในเรื่องศิลปะมากขึ้น จึงได้นำกิจกรรมศิลปะเข้ามาใช้ในสัปดาห์นี้ นำวิธีการใช้สีน้ำมาสอนเด็กๆ ให้เด็กๆวาดภาพสีน้ำ ฝึกทำภาพพิมพ์สีน้ำ ใช้วัสดุเช่นใบไม้ มาเป็นแบบพิมพ์ สาระที่ได้จากการทำกิจกรรม คือการให้เด็กได้แสดงจินตนาการด้านต่างๆออกมาทางศิลปะ

ช่วงที่ 2 ระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม – 21 สิงหาคม 2548 (ทุกอังคาร พฤหัสบดี และเสาร์)

ในช่วงนี้เป็นกิจกรรมที่ดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา ซึ่งช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่มีทั้งกิจกรรมที่เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ ให้ความบันเทิง และเสริมทักษะด้านศิลปะ ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้

สัปดาห์ที่ 5 สัปดาห์นี้กิจกรรมจะเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ธรรมชาติ โดยมีกิจกรรมดูนก สอนให้เด็กๆได้รู้จักนกนานาชนิด นอกจากนี้ก็ได้สอนให้เด็กวาดรูปนกจากภาพนกที่ได้เห็น เช่นนกเงือก หรือเป็นนกที่เด็กเคยเห็นในชุมชน เช่น นกพิราบ นกเขา เป็นต้น สาระที่ได้จากการทำกิจกรรมคือ ทำให้เด็กๆได้รู้จักกับนกนานาชนิด แหล่งที่อยู่ของนก อีกทั้งยองสอดแทรกเรื่องการอนุรักษ์นก การอนุรักษ์ธรรมชาติ และการนำศิลปะเข้ามาใช้กับเรื่องธรรมชาติได้เป็นอย่างดี

สัปดาห์ที่ 6 สัปดาห์เกี่ยวข้องกับการทำงานศิลปะ ทั้งกิจกรรมโรยทรายสี และกิจกรรมย้อมกระดาษทิชชู สาระที่ได้จากการทำกิจกรรม เนื่องจากต้องการพัฒนาทักษะด้านต่างๆของเด็ก ดังนั้นจึงนำเรื่องศิลปะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาทักษะดังกล่าว ซึ่งถือได้ว่าเป็นการกระตุ้นให้เด็กได้เกิดความคิดสร้างสรรค์ รู้จักการใช้สี การผสมสีให้ออกมาสวยงาม รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์กับครอบครัวด้วยการนำผลงานศิลปะเหล่านั้นกลับไปให้คนที่บ้านดู

สัปดาห์ที่ 7 เนื่องจากสัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์วันแม่แห่งชาติ จึงได้ให้เด็กๆได้เล่าประสบการณ์การร่วมงานวันแม่ที่โรงเรียนให้กับเพื่อนๆและพี่ๆได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน จากนั้นก็ให้เด็กๆได้ทำการ์ดวันแม่เพื่อนำไปมอบให้แม่ในวันแม่แห่งชาติปีนี้ สาระที่ได้จากการทำกิจกรรม คือ การที่เด็กได้ฝึกเล่าประสบการณ์จากสิ่งที่ตนไปสัมผัสมา หรือเรียกได้ว่าเป็นประสบการณ์ตรงจากเด็กๆ ในส่วนของการทำการ์ดวันแม่นั้นพบว่าเด็กๆมีความกระตือรือร้นที่จะทำสิ่งประดิษฐ์ให้กับแม่ของตนเอง ซึ่งข้อความส่วนใหญ่แล้วจะเขียนว่า “ รักแม่ ” สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างเด็กและครอบครัว ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีงามที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

สัปดาห์ที่ 8 กิจกรรมเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ และทำความรู้จักกับครอบครัวของเด็ก โดยให้เด็กๆเขียนเรียงความเรื่อง “ บ้านของฉัน ” ส่งมา สาระที่ได้จากการทำกิจกรรมนี้คือ การได้ทราบถึงข้อมูลระดับบุคคลของเด็กและครอบครัว ว่าที่ตั้งของบ้านอยู่ที่ไหน มีสภาพความเป็นอยู่ มีลักษณะครอบครัวเป็นอย่างไร อาชีพของผู้ปกครองรวมไปถึงเรื่องแผนที่บ้านแต่ละหลังของเด็กๆเหล่านั้น

กลุ่มคนที่เข้ามามีบทบาทในโครงการในนี้สามารถแบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ กลุ่มเด็ก ที่ถือเป็นกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มผู้จัดกิจกรรม และกลุ่มคนภายนอก แต่ละกลุ่มคนที่เข้ามามีความสัมพันธ์กับโครงการนี้พบว่ามีบทบาทที่แตกต่างกันออกไป สามารถอธิบายได้ดังต่อไปนี้

กลุ่มเด็ก จากกิจกรรมต่างๆที่ได้จัดขึ้นมีกลุ่มเป้าหมายคือเด็กอายุระหว่าง 5-12 ปี ในเขตพื้นที่แพร่งภูธร และใกล้เคียง จำนวนเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมวันที่มีเด็กเข้าร่วมกิจกรรมมากที่สุดมีเด็กจำนวน 16 คน ส่วนวันที่เด็กเข้าร่วมกิจกรรมน้อยที่สุดมีเด็กจำนวน 5 คน โดยเฉลี่ยแล้วมีเด็กเข้าร่วมกิจกรรม 10คนต่อการทำกิจกรรม 1 ครั้ง เด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมโดยส่วนใหญ่แล้วจะมีบ้านอยู่ในเขตแพร่งภูธรส่วนเด็กจากพื้นที่อื่นจะเข้ามาทำกิจกรรมเป็นบางครั้ง ไม่ต่อเนื่องเหมือนเด็กในพื้นที่ จากการทำกิจกรรมเป็นระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมาพบว่า ธรรมชาติของเด็กวัยนี้จะเป็นเด็กที่มีความสนใจหลากหลาย มีความสนใจกับกิจกรรมนั้นๆไม่นาน ประกอบกับเป็นเด็กที่มีช่วงวัยแตกต่างกันจึงทำให้ในบางครั้งเกิดระดับความสนใจที่แตกต่างขึ้นและค่อนข้างยากที่จะควบคุม แต่อย่างไรก็ตามปัญหาดังกล่าวก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ เด็กๆสามารถทำกิจกรรมได้และถือว่าอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี มีปฏิสัมพันธ์กับผู้จัดกิจกรรมและวิทยากร ให้ความสนใจกับกิจกรรมที่มีสีสันและกิจกรรมที่ได้แสดงออกเป็นส่วนใหญ่ เช่น กิจกรรมศิลปะ กิจกรรมแสดงละคร ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่เพิ่มทักษะด้านศิลปวัฒนธรรมให้กับกลุ่มนี้ ส่วนเกมที่ให้เด็กเล่นก็สามารถดึงดูดความสนใจของเด็กได้เช่นกัน เช่น เกมกระซิบ กิจกรรมที่ทำให้เด็กได้ฝึกการใช้ภาษาและการสื่อสาร

กลุ่มผู้จัดกิจกรรม บทบาทหลักของคนกลุ่มนี้คือจัดกระบวนการ และจัดกิจกรรมให้เด็กกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งกลุ่มผู้จัดกิจกรรมก็จะมีทั้งอาสาสมัครและวิทยากรรับเชิญ บุคคลเหล่านี้มีส่วนผลักดันให้เด็กกลุ่มเป้าหมายพัฒนาทักษะด้านต่างๆทั้งภาษา ศิลปะ และการเรียนรู้ธรรมชาติ ซึ่งเป็นไปได้ว่าในอนาคตหากมีการขยายกิจกรรม บุคคลในกลุ่มนี้จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มอาสาสมัคร

กลุ่มบุคคลภายนอก หลังจากที่มีการจัดกิจกรรมขึ้นพบว่ามีผู้คนแวะเวียนเข้ามาสังเกตการณ์การทำกิจกรรมดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มผู้ปกครองที่คอยเข้ามาถามสาระทุกข์บุตรหลาน ระหว่างการทำกิจกรรม นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนชราในพื้นที่เข้ามาสอบถามถึงรายละเอียดการจัดกิจกรรมดังกล่าว จากจุดนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของคนในพื้นที่ที่สะท้อนให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมกันในสังคมได้ในอนาคต หากว่ากิจกรรมที่จัดขึ้นสามารถดึงกลุ่มคนวัยต่างๆเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมได้

  ท่านสามารถติดต่อขอรายละเอียดโครงการเพิ่มเติมได้ที่ บางกอกฟอรั่ม โทรศัพท์ 02-228-1362-3 หรือที่ [email protected]

นางสาวโสธรสินี สุภานุสร

ผู้จัดการโครงการเด็กค่าเฟ่

Copyright@ 2006 Bangkok Forum
บางกอกฟอรั่ม เลขที่ 104, 106 ถ.แพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทร. 02-228-1362-3 และ 02-622-2316โทรสาร 02-228-1362 หรือ www.bangkokforum.net หรือ [email protected]