หน้าแรก I ติดต่อบางกอกฟอรั่ม I เกี่ยวกับบางกอกฟอรั่ม I  English version   I  Webboard บางกอก
ค่ายบ้านดิน จ.ระยอง ครั้งที่ 1/2549
โดย โสธรสิณี สุภานุสร บางกอกฟอรั่ม
 

“ บ้านดิน” สิ่งก่อสร้างที่อาศัยการสัมผัสระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ได้ถูกประยุกต์ให้เป็นกิจกรรมอาสา กิจกรรมที่ส่งเสริมให้กลุ่มคนที่มีจิตอาสาได้คืนสู่ธรรมชาติ และร่วมบ่มเพาะความดีงามในสังคม ผ่านกระบวนการเรียนรู้วิธีการสร้างบ้านดิน เรียนรู้วิถีชุมชน การทำงานร่วมกับชุมชน รวมถึงการเรียนรู้และทบทวนตนเอง

โครงการสร้างบ้านดิน : ห้องสมุดของกลุ่มรักษ์เขาชะเมา จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25-27 สิงหาคม 2549 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมฉลาดทำบุญ ปี 2 : จิตอาสาปันศรัทธาและอาทร ภายใต้ชุดโครงการ “ อาสาเพื่อในหลวง” ที่ประกอบไปด้วยองค์กรภาคีต่างๆ กว่า 10 องค์กร โดยมีบางกอกฟอรั่มเป็นหน่วยประสานงานในการนำอาสาสมัครลงสู่พื้นที่ เวลาตีห้าครึ่งของวันที่ 25 รถตู้ 2 คัน จอดรอรับอาสาสมัครที่สนามหลวง หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ หกโมงเช้ารถตู้เคลื่อนตัวสู่จุดหมายปลายทาง “ โรงเรียน โรงเล่น กลุ่มรักษ์เขาชะเมา” อำเภอแกลง จังหวัดระยองในเวลาเก้าโมงครึ่ง ท้องฟ้าแจ่มใส บรรยากาศดูอบอุ่น เหมือนทุกครั้งที่มีแขกมาเยือน ชาวรักษ์เขาชะเมา ทั้ง พี่อี๊ด พี่แก้ว พี่ทิน พี่หนู น้องบ่วง น้องบอยและคนอื่นๆที่ไม่ได้เอ่ยนาม ออกมาต้อนรับกลุ่มอาสาสมัครกันอย่างพร้อมหน้า อาสาสมัครได้ขนสัมภาระเข้าที่พัก อาคารหลังใหญ่ที่สร้างขึ้นจากก้อนอิฐดินจำนวนมาก บ้านดินที่เด็กๆกลุ่มรักษ์เขาชะเมาสร้างขึ้นเพื่อเป็นอาคารอเนกประสงค์ สำหรับทำกิจกรรมต่างๆของกลุ่ม รวมถึงการเป็นที่พักอาศัยของผู้มาเยือนอยู่เป็นระยะ

เมื่อทุกคนพร้อมหน้าทั้งอาสาสมัคร สมาชิกกลุ่มรักษ์เขาชะเมา และคณะทำงานบางกอกฟอรั่ม ก็เริ่มเปิดวงสนทนา ทำความรู้จักกันอย่างคุ้นเคย ด้วยการชมสารคดีของกลุ่มรักษ์เขาชะเมา ที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่ต่อสู้เพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมและพัฒนาท้องถิ่นของตนให้มีความอยู่เย็นเป็นสุข เมื่ออาสาสมัครได้ทราบความเป็นมาของกลุ่มแล้ว จึงให้อาสาสมัครได้บอกกล่าวถึงความคาดหวังในการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ บ้างก็กล่าวว่าไม่ได้คาดหวังอะไร บ้างก็กล่าวว่าอยากมาทำงานเพื่อผู้อื่น บ้างก็กล่าวว่าอยากมาศึกษาวิธีการทำบ้านดิน อาสาสมัครแต่ละคนมีความคาดหวังที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเราก็จะมาสรุปถึงสิ่งที่แต่ละคนได้รับกันอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันปิดค่ายมาถึง

หลังจากรับประทานอาหารกลางวันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้ร่วมค่ายทุกคนนั่งล้อมวงกันอีกครั้ง พี่แก้วเริ่มเล่าเรื่องบ้านดินของกลุ่มรักษ์เขาชะเมา การทำบ้านดินทำให้เกิดการเรียนรู้เพื่อค้นหาสิ่งที่เหมาะสมกับการสร้างบ้าน ทั้งการเรียนรู้เรื่องกระบวนการสร้างบ้านดิน การขึ้นโครงสร้างของบ้าน การทำสีที่สดใสของบ้าน นอกจากนั้นยังมีเรื่องจิตอาสาของกลุ่มคนต่างๆที่เข้ามาร่วมกันทำบ้านดิน การทำงานที่เสียสละ มิตรภาพในการทำงาน และที่สำคัญคือเรื่องการได้ทบทวนความรู้สึกของตัวเอง รวมถึงการได้สัมผัสถึงความละเอียดอ่อนในการใช้ชีวิต สิ่งเหล่านี้ถือเป็นผลผลิตของการทำงานร่วมกัน การได้เรียนรู้ถึงประสบการณ์และวิธีการทำงานที่เป็นธรรมชาติ

มีวิธีการสร้างบ้านดินอยู่หลายแบบ แต่ที่กลุ่มรักษ์เขาชะเมาใช้จะเป็นแบบอัดบล็อกอิฐดินและแบบปั้นมีโครงไม้ ซึ่งวิธีการสร้างจะแตกต่างกันออกไป กิจกรรมสร้างห้องสมุดในครั้งนี้จะใช้วิธีการอัดบล็อกอิฐดิน โดยให้อาสาสมัครได้เรียนรู้การทำก้อนอิฐดินที่หนักถึง 18 กิโลกรัม จากดินเหนียวที่ผสมด้วยแกลบ ทรายและน้ำ อัดในบล็อกไม้และตากแดดให้แห้งรอการก่อฐานบ้านดินในวันต่อไป

เมื่อได้แลกเปลี่ยนถึงประสบการณ์การทำบ้านดิน และได้ถ่ายทอดความรู้เรื่องการทำบ้านดินในรูปแบบต่างๆ อาสาสมัครก็เริ่มลงสู่กิจกรรม การแบ่งงานของอาสาสมัครเป็นไปตามความสมัครใจ อาสาสมัครคนไหนอยากจะทำอะไรก็ไปตามกลุ่มงานนั้นโดยไม่มีการบังคับ ซึ่งงานที่จะต้องทำนั้นแบ่งออกเป็น การขนก้อนอิฐดิน การถากก้อนอิฐดิน การก่อฐานบ้านดิน และการเตรียมดินเพื่อมาเป็นตัวประสานก้อนอิฐ เมื่อมีอาสาสมัครคนใดอยากเปลี่ยนไปทำงานอื่นก็จะมีอาสาสมัครคนใหม่เข้ามาแทนที่งานได้อย่างต่อเนื่องและเป็นไปอย่างธรรมชาติ ระหว่างการทำงานก็ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสอบถามถึงความเหมาะสมในการทำบ้านดิน ทั้งเรื่องลักษณะของดินที่นำไปใช้ประสานก้อนอิฐแต่ละก้อน และการวางก้อนอิฐดินที่เหมาะสมสำหรับการเป็นรากฐานบ้านดิน

ในตอนหัวค่ำของวันแรกนี้เอง พระครูประโชติธรรมาภิรมย์ หรือพระอาจารย์สาย แกนนำสำคัญของกลุ่มรักษ์เขาชะเมา ได้นำชาวจิตอาสาสนทนาธรรมะ เสริมมิติด้านปัญญาให้แต่ละคนได้มองลึกเข้าไปในคุณค่าของตนเอง คุณค่าของการทำงานอาสาสมัครและคุณค่าของการใช้ชีวิตอยู่บนโลก ข้อคิดที่สำคัญอีกประการจากพระอาจารย์สาย คือ การทำงานอาสา เป็นการทำงานแบบไม่หวังผลตอบแทน และเมื่อได้ทำงานอาสาสมัครแล้วให้ภูมิใจในสิ่งที่เราทำ เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าที่สละแล้วซึ่งทุกอย่าง ถ้าเราทำงานด้วยความพอใจหรือการทำด้วยจิตใจอาสาจะถือว่าเป็นสิ่งดีที่สุดที่จะหล่อเลี้ยงชีวิตของเรา

ค่ำคืนนี้อาสาสมัครได้ปรับเปลี่ยนอาคารโรงเรียนโรงเล่นจากเดิมที่เคยเป็นห้องประชุมให้กลายมาเป็นที่นอนของทุกคน สองฝากของอาคารเรียงรายไปด้วยมุ้ง มีพัดลมอยู่ตรงกลางคอยให้ความเย็นสบาย แต่คืนนี้เรายังไม่รีบนอนกันเพราะเป็นวันเกิดของอาสาสมัครคนหนึ่ง ทีมงานบางกอกฟอรั่มได้จัดฉากละครเรื่องสำคัญก่อนที่จะทำการอวยพรวันเกิด ละครฉากนี้เรียกน้ำตาให้กับเจ้าของวันเกิด และเป็นช่วงเวลาเดียวกับการให้อาสาสมัครได้แสดงความคิดเห็น สะท้อนภาพการร่วมกิจกรรมได้อย่างดีและบอกเล่าสิ่งที่ตนเองคาดหวังกับการมาร่วมกิจกรรม
เช้าวันใหม่ทุกคนกระตือรือร้นที่จะเลอะโคลนอีกครั้ง ลักษณะการทำงานก็ไม่แตกต่างจากเมื่อวานมากนัก แต่วันนี้เราเน้นการทำอิฐดินให้ได้ตามเป้าหมายที่ร่วมกันวางไว้ คือ 200 ก้อนภายในเวลาที่เหลือ ในช่วงเช้านี้เองอาสาสมัครบางคนได้ไปร่วมกิจกรรมกับเด็กๆกลุ่มรักษ์เขาชะเมาในการไถนาและหว่านข้าวในทุ่งนาข้างบ้าน ซึ่งเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับอาสาสมัครที่ไม่กลัวการเปื้อนโคลน

พอตอนบ่ายอาสาสมัครได้ลงชุมชนศึกษาวิถีชีวิต ภูมิปัญญาแพทย์แผนโบราณ และ เกษตรกรทางเลือก ทั้งลุงทุม น้าโก้ง น้าอ๋า และกลุ่มเกษตรชีวภาพ บ้านลุงสุ่น พวกเราต่างได้รับความรู้จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สอบถามถึงวิธีการทำงาน วิธีคิด และวิถีการใช้ชีวิตของลุงป้าน้าอา กันอย่างออกรส จนถึงเวลาที่ทุกคนต้องกลับไปรับประทานอาหารเย็น ค่ำคืนนี้มีกิจกรรมน่ารักๆจากกลุ่มรักษ์เขาชะเมาให้เราได้ชมกัน ทั้งการสันทนาการทำความรู้จักและละครหุ่นมือ ปิดท้ายกิจกรรมภาคค่ำด้วยการล้อมวงร้องเพลงและพูดคุย โดยให้โจทย์กับคนที่อยู่ในวงสนทนาว่า “ ความใฝ่ฝันของแต่ละคนในการปั้นก้อนดินแต่ละครั้ง คุณฝันไว้ว่าอย่างไร” แต่ละคนสะท้อนมุมมองความฝันออกมาเป็นถ้อยคำ บ้างฝันอยากให้มีกลุ่มจิตอาสาอีกกลุ่มให้ออกไปทำอะไรดีดีเพื่อสังคม บ้างฝันอยากให้ตัวเองได้มีส่วนในการสร้างสรรค์สังคม สร้างโลกให้สวยงามขึ้น บ้างฝันให้มิตรภาพเช่นนี้คงอยู่ตลอดไป ทุกคนในวงล้อมล้วนแล้วแต่ถ่ายทอดความฝันของตนเองออกมา ด้วยหัวใจอาสาที่อยากเผื่อแผ่สู่บุคคลกลุ่มอื่นๆในสังคม

คืนนี้เป็นคืนสุดท้ายที่ชาวค่ายบ้านดินจะได้อยู่ด้วยกัน แต่ละคนต่างล้อมวงกันเขียนความรู้สึกลงไปในหนังสือค่ายประจำตัวของสมาชิกค่ายคนอื่นๆ บรรยากาศมิตรภาพอุ่นๆและเวลาแห่งการจากลาใกล้จะมาถึง

จากเป้าหมายในการทำอิฐดินของอาสาสมัครจากที่ตั้งเอาไว้ 200 ก้อน แต่ทำได้จริงเพียง 115 ก้อน เนื่องจากเกิดปัญหาระหว่างการทำงาน ตั้งแต่การผสมดินในอัตราส่วนไม่เหมาะสม การดึงบล็อกไม้ช้าเกินไปที่ทำให้ก้อนอิฐดินไม่ยอมหลุด เหตุการณ์นี้ทำให้ชาวจิตอาสาได้เรียนรู้การทำงานอาสาสมัครไปอีกขั้นหนึ่ง การถกเถียงวิเคราะห์ถึงข้อผิดพลาด และการให้อภัยกันถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด มิเช่นนั้นค่ายนี้คงสร้างแผลใจให้กับอาสาสมัครที่เข้าร่วมกิจกรรม อย่างไรก็ตามชาวจิตอาสากลุ่มนี้ก็ได้แสดงมิตรภาพที่ร่วมกันสร้างมาในระยะเวลา 3 วัน 2 คืนให้เราได้เห็นในการสรุปกิจกรรมและถอดบทเรียนในบ่ายวันนี้ อาสาสมัครได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการเข้าร่วมกิจกรรมบ้านดินในครั้งนี้ว่า “ บรรยากาศในค่ายเป็นกันเอง อาหารอร่อย ได้รู้จักเพื่อนเก่าที่เคยไปค่ายด้วยกันแล้วไม่ได้คุยกัน ค่ายที่มีคนน้อยๆก็ทำให้มิตรภาพเหนียวแน่น ได้พบมิตรภาพใหม่ๆ ได้ลองเปิดตัวเองให้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ ได้ข้อค้นพบบางอย่างเกี่ยวกับการมาค่ายว่าความสำคัญของงานเทียบเท่าไม่ได้เลยกับการเรียนรู้ประสบการณ์ในค่าย” และที่สำคัญการมาค่ายของชาวจิตอาสาก็ได้ช่วยเติมพลังในการทำงานให้กับชาวรักษ์เขาชะเมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ เพียงแค่มีคนเข้ามาเห็นในสิ่งที่กลุ่มทำ ร่วมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ก็ถือได้ว่าเป็นการเติมเต็มหัวใจให้กับคนทำงานได้อย่างน่าอัศจรรย์ กิจกรรมค่ายจบลงด้วยรอยยิ้มและมิตรภาพ

การร่ำลามาถึง การจากไปในครั้งนี้ถือเป็นการสร้างกลุ่มคนที่มีจิตอาสาให้เกิดขึ้นในสังคมและเป็นการเปิดช่องทางให้กับคนกลุ่มใหม่ได้เข้ามาเรียนรู้และสัมผัสกับบรรยากาศเช่นเดียวกันนี้ต่อไป

ค่ายอาสาสมัครถือเป็นส่วนหนึ่งในการพักผ่อนที่มีคุณค่าของชีวิต การทำชีวิตให้ช้าลงด้วยการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้อื่นบ้าง การสัมผัสธรรมชาติร่วมกับคนแปลกหน้า เรียนรู้การใช้ชีวิตแบบทางเลือก สัมผัสดิน สัมผัสเมล็ดข้าว สัมผัสต้นไม้ใบหญ้า สัมผัสความรู้สึกของเพื่อนร่วมทาง และที่สำคัญคือการได้สัมผัสกับตัวเอง ได้รับรู้ถึงภาวะภายในของตัวเอง ได้โลดแล่นอยู่บนเส้นทางสายใหม่ ถนนแห่งความอิ่มเอมใจและสร้างความประทับใจได้ไม่รู้ลืม
Copyright@ 2006 Bangkok Forum
บางกอกฟอรั่ม เลขที่ 104, 106 ถ.แพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทร. 02-228-1362-3 และ 02-622-2316โทรสาร 02-228-1362 หรือ www.bangkokforum.net หรือ [email protected]