หน้าแรก I ติดต่อบางกอกฟอรั่ม I เกี่ยวกับบางกอกฟอรั่ม I  English version   I  Webboard บางกอก
ค่ายบ้านดินปี 2548
โดย ครรชิต จูประพัทธศรี บางกอกฟอรั่ม (เขียน สิงหาคม 2548 ปรับแก้ สิงหาคม 2549)
 

รถตู้สองคันนั้นพาอาสาสมัครชายหญิงต่างวัยจำนวนสิบกว่าคน ออกเดินทางจากศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ใจกลางกรุงเทพมหานคร มุ่งไปทางทิศตะวันออกสู่อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ตอนเช้ามืดของเดือนสิงหาคม โดยที่ยังไม่มีคำตอบอะไรชัดเจนมากนักเกี่ยวกับบ้านดินที่ทุกคนกำลังจะไปเป็นอาสาสมัครช่วยกันสร้าง

“ บ้านดิน..บ้านที่สร้างด้วยดิน มันเป็นยังไง ? ดินใช้สร้างเป็นบ้านได้ด้วยเหรอ ? ” คำถามแรกถูกถามขึ้นในรถตู้ “ แล้วกลุ่มรักษ์เขาชะเมาที่ว่านี้เป็นใคร ? ทำอะไร ? ” นี่เป็นคำถามที่ตามมา ก่อนที่ฉัน ผู้ซึ่งเป็นคนดูแลอาสาสมัครเหล่านี้ระหว่างการเดินทาง จะตอบไปอย่างคร่าวๆ ด้วยความที่ฉันพอจะรู้จักกลุ่มรักษ์เขาชะเมาบ้าง แต่ฉันก็ยังไม่เคยร่วมงานด้วย

กลางทุ่งนาสีเขียวในเขตตำบลทุ่งควายกิน ในเวลาอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา บ้านดินหลังนั้นก็ปรากฏขึ้นตรงหน้า บ้านดินที่เราจะต้องช่วยกันลงมือสร้างเป็นบ้านดินที่นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษมสร้างค้างไว้ มันเป็นบ้านหลังเล็กยกพื้น กว้างยาวไม่เกิน 3 เมตร มุงหลังคาเรียบร้อย มีผนังที่ก่อด้วยดินอยู่ 3 ด้าน เหลือไว้ให้เราทำกันต่ออีกด้านหนึ่ง

กระบวนการสร้างบ้านเริ่มตั้งแต่การขุดดินเหนียวแฉะๆ ในทุ่งนาข้างบ้าน นวดดินด้วยเท้า ผสมดินด้วยแกลบ เสร็จแล้วตักขึ้นมาจากบ่อดิน คลุกเข้ากับฟางข้าว ก่อนเอาไปปั้นเป็นผนังที่มีโครงไม้ไผ่สานรอไว้อยู่ ส่วนผนัง 3 ด้านที่มีอยู่แล้วนั้น เราช่วยกันเอาดินเปียกๆฉาบให้เรียบโดยใช้มือของเรา ไม่มีเกรียง หรือเครื่องมืออื่นใดนอกจากจอบ เสียม กับมีดพร้า แทบทุกอย่างทำด้วยมือทั้งสิ้น สุดท้ายแล้วพวกเราบางคนที่มีอารมณ์ศิลป์ก็ละเลงลวดลายดินปั้นศิลปะนูนสูงกันตามผนัง (ฉันปั้นรูปนกเงือกแบบนูนสูงอวดฝีมือไว้ด้วยตัวหนึ่ง) ก่อนจะฉาบด้วยสีธรรมชาติจากดินลูกรังที่พวกเราไปช่วยกันแอบขุดมาจากผิวถนนมาผสมกับกาวแป้งเปียก และน้ำมันพืช พวกเราต่อเติมบ้านดินไปได้นิดหน่อย สุดท้ายแล้วบ้านก็ยังสร้างไม่เสร็จดีนัก แต่ก็รู้สึกภูมิใจ ด้วยความที่ในชีวิตหนึ่งของคนเรา คงจะไม่มีโอกาสได้สร้างบ้านด้วยมือของตัวเองกันง่ายๆ

ความจริงแล้วการสร้างบ้านด้วยดิน ทำให้เรารู้ว่าแท้จริงแล้วเราทุกคนสามารถสร้างบ้านได้ด้วยตนเอง การสร้างบ้านด้วยดินเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังไม่ทำลายทรัพยากรโลก ตราบใดที่ดินยังสามารถขุดหามาใช้เป็นวัสดุก่อสร้างหลักได้จากบริเวณบ้านของตัวเอง การสร้างบ้านดินจึงไม่ใช่เพียงแต่การสร้างบ้าน แต่กลายเป็นกระบวนการเรียนรู้ในการดำรงชีวิตอยู่แบบทางเลือก

และเพื่อเป็นการเรียนรู้ ในค่ายครั้งนี้จึงไม่ได้มีเฉพาะการสร้างบ้านดิน แต่เรายังได้ดำนาปลูกข้าวแบบดั้งเดิมกันด้วย

หลังจากที่มีวิทยากรชาวบ้านมาสอนวิธีการทำนาปลูกข้าวในช่วงเช้าวันถัดมาแล้ว เราก็ได้ดำนากันเป็นครั้งแรกในชีวิตในแปลงนาข้าวข้างๆ โรงเรียนโรงเล่น ที่เป็นที่ทำการของกลุ่มรักษ์เขาชะเมานั่นเอง

ขาก้าวเดินถอยหลังทีละก้าว มือกำข้าว 3-4 ต้น ปักดำลงไปในพื้นดินโดยใช้นิ้วโป้ง ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ คนละ 3-4 แถว ไล่จากหัวแปลงไปท้ายแปลง.. ฉันรู้สึกว่าการดำนาปลูกข้าวไม่ได้เป็นเรื่องง่ายเลย สำหรับคนเมืองที่ไม่คุ้นชิน ลำพังเพียงแค่การก้าวเท้าเดินในนาก็เป็นเรื่องยาก ถ้าเช่นนั้นแล้วชาวนาที่ต้องทำนาทุกปีล่ะ...

ฉัน บี-ผู้ร่วมงาน และไก่-น้องจากจุฬาฯ เป็นสามคนสุดท้ายที่เดินออกจากแปลงดำนา เรารู้สึกภูมิใจที่เห็นแนวต้นข้าวที่พวกเราช่วยกันปักดำ ถึงแม้ว่ามันจะโย้ไปเย้มา ดูไม่ค่อยเป็นระเบียบเท่าไรนักก็ตาม อย่างว่านั่นแหล่ะ มันเป็นการดำนาครั้งแรกในชีวิตของใครหลายคน ฉันเชื่อว่าหลังจากดำนาแปลงนี้เสร็จแล้ว คงไม่มีใครในกลุ่มพวกเรากินข้าวเหลือทิ้งเหลือขว้างเป็นแน่ เพราะกว่าจะได้ข้าวมาแต่ละเม็ด แต่ละรวงนั้น มันต้องแลกมาด้วยหยาดเหยื่อแรงกายจริงๆ กับคนอย่างฉันที่ร้อยวันพันปีไม่เคยได้ออกกำลังกายนี้ ถึงกับปวดขาตึงน่องไป 3 วัน 7 วัน

นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้มากขึ้น ทางกลุ่มรักษ์เขาชะเมาก็เลยจัดโปรแกรมให้เราได้ลงสัมผัสชุมชนด้วย พวกเราได้ไปพบลุงทุม ที่เป็นหมอยา มีวิชาความรู้เรื่องสมุนไพรมากที่สุดในตำบลทุ่งควายกิน อีกคนก็ ลุงสุ่น ที่ทำสวนผลไม้แบบปลอดสารเคมี ลุงสุ่นประหยัดรายจ่ายไปได้มากเพราะเลิกซื้อยาฆ่าแมลง กับปุ๋ยเคมี แล้วหันมาใช้น้ำหมักชีวภาพ กับปุ๋ยชีวภาพ สุขภาพร่างกายก็ดีขึ้นด้วยเพราะไม่ต้องสูดดมเอาสารพิษเข้าร่างกายเวลาทำสวน เสร็จแล้วพวกเราก็ยังได้ไปดูป่าชายเลน ไปดูแม่น้ำประแสร์ ไปดูโบสถ์เก่าแก่สวยๆ ที่วัดทุ่งควายกิน อีกด้วย

ตกกลางคืน คืนแรกมีการฝึกจิตภาวนาด้วยเสียงเพลงประกอบท่ากายบริหารที่ทำให้ฉันหายใจโล่งขึ้นเยอะ คืนถัดมาพระอาจารย์สายมาสนทนาธรรมกับพวกเรา เสียดายที่พวกเราบางคนง่วงนอน แต่ก็ไม่มีใครถึงขั้นสัปหงก

ทีมรักษ์เขาชะเมา ที่เราเห็นในวันนั้นประกอบไปด้วย ทิดชัย กับ หม้อ ชาวบ้านจากหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการไล่ที่ในเขตอุทยานแห่งชาติตาพระยา แก้ว กับพี่อี๊ด ที่เคยอยู่ชมรมค่าย ม.ร. พี่โยธิน พ่อครัวใหญ่ หนู ฟ้า ดำ เยาวชนในพื้นที่ที่เป็นสมาชิกกลุ่มรุ่นแรกๆ นอกจากนี้ก็มีเด็กๆ ในกลุ่มหลายคนที่ขันอาสามาเป็นไกด์พาพวกเราเที่ยว กับคอยเสริฟน้ำดอกอัญชัญหวานหอมชื่นใจให้เราได้ดื่มกินยามกระหาย และคนสำคัญที่สุดเลยก็คงต้องเป็นพี่แฟ้บ- บุบผาทิพย์ แช่มนิล อดีตนักกิจกรรมจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เพราะถ้าไม่มีพี่แฟ้บก็คงไม่มีกลุ่มรักษ์เขาชะเมา และไม่มีค่ายสร้างบ้านดินในครั้งนี้

จุดเริ่มต้นของกลุ่มรักษ์เขาชะเมาอยู่ที่พี่แฟ้บ หลังจากที่พี่แฟ้บกลับมาอยู่บ้านที่เขาดิน อ.แกลง จ.ระยอง พี่แฟ้บได้เปิดร้านเช่าหนังสือเล็กๆ จากหนังสือที่พี่แฟ้บสะสมเอาไว้ พอเปิดร้านได้ไม่นาน เด็กๆ ในละแวกนั้นก็มาเช่าหนังสือไปอ่านกันทีละเล่มสองเล่มต่อคน พี่แฟ้บก็ใจดี พอเด็กๆ เช่าหนังสือการ์ตูนแล้ว พี่แฟ้บก็ให้ยืมวรรณกรรมเยาวชนไปอ่านฟรี ในที่สุดเด็กๆ ก็เลยกลายเป็นกลุ่มเป็นก้อน และเมื่อเด็กๆ อยากทำกิจกรรม พี่แฟ้บก็ชวนเด็กไปเดินป่าเขาชะเมา ไปๆ มาๆ ก็รวมตัวกันเป็นกลุ่มรักษ์เขาชะเมา ในปี พ.ศ. 2537 จากนั้นมาก็ชวนกันมาทำเรื่องสิ่งแวดล้อม ทำค่ายเยาวชนสานฝันสู่ป่าสวย ค่ายนักสืบสายน้ำ นอกจากเด็กได้รับความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็ยังมีกิจกรรมที่ทำให้เด็กเกิดกระบวนการคิดด้วย เช่น ทำละครสะท้อนปัญหา ทำโรงเรียนโรงเล่น ทำผ้ามัดย้อม ทำงานวัด “ พลิกทุ่งฟื้นทุน” พอเด็กๆ มารำมาฟ้อน ผู้ปกครองก็อยากมาดู ขณะเดียวกัน เด็กๆ ก็ไปเรียนรู้เรื่องชุมชน ที่สุดก็เกิดการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ มีการแลกเปลี่ยนความรู้-ภูมิปัญญา เด็กก็ได้รู้เรื่องของท้องถิ่นตัวเอง

เด็กๆ ที่มาร่วมกิจกรรมกับกลุ่มรักษ์เขาชะเมานี้ บางคนมาตั้งแต่ตอนอยู่ชั้นอนุบาล จนตอนนี้เรียนอยู่มัธยมปลายก็ยังคงมาร่วมกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ บางคนเรียนจบแล้วกลับมาทำงานที่บ้าน ก็ยังมาทำงานกับกลุ่ม และเมื่อถึงเดือนธันวาคมที่มีค่ายวัฒนธรรมที่เป็นงานร่วมกับชุมชน ไม่ว่าสมาชิกกลุ่มจะอยู่ที่มุมไหนของประเทศก็จะกลับมาบ้านเพื่อช่วยงานของกลุ่มรักษ์เขาชะเมา

พี่แฟ้บเล่าให้ฟังว่า กลุ่มรักษ์เขาชะเมาสนใจเรื่องการเมืองภาคประชาชน เรื่องการสร้างอาสาสมัครสังคม และเรื่องสังคมชีวิตทางเลือก โดยที่เด็กๆ ต้องเป็นคนต้นแบบที่ไม่ใช่กระแสหลัก กลุ่มรักษ์เขาชะเมาจึงเป็นกลุ่มทางเลือก และเชื่อว่าทางเลือกนี้จะเป็นทางรอด

เวลา 3 วันผ่านไปอย่างรวดเร็วมาก น่าเสียดายที่เป็นช่วงเวลาสั้นไปหน่อย บ้านดินที่เราช่วยกันสร้างก็ยังไม่เสร็จ อย่างไรก็ตาม 3 วันนี้ก็เป็น 3 วันที่ฉันได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้มากมายเต็มไปหมด กับอาสาสมัครคนอื่นๆ ก็คงเป็นเช่นกัน แท้จริงแล้วสิ่งใหม่ๆ ที่เราได้เรียนรู้ บางอย่างก็เป็นสิ่งเก่าสิ่งเดิมที่ผู้คนในรุ่นเราหลงลืมกันไป มันเป็นภูมิปัญญาที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ในท้องถิ่น แต่บางอย่างก็เป็นสิ่งที่เกิดจากการประยุกต์ปรับเปลี่ยน เพื่อให้เท่าทันกับกระแสโลกาภิวัตน์ที่เชี่ยวกราก เป็นเรียนรู้เพื่อให้เท่าทัน แต่ไม่ได้หมายความว่าทัดเทียม เพราะการตามให้ทัดเทียม ก็มีบางสิ่งบางอย่างที่ต้องสูญเสียเพื่อให้ได้มา และสิ่งที่ต้องสูญเสียนั้น บ่อยครั้งที่มันมีคุณค่ามากกว่าสิ่งใหม่ที่ได้มาเสียอีก

บ่ายของวันที่สามของค่าย อาสาสมัครทุกคนเก็บกระเป๋าขึ้นรถตู้ที่กลับมารับ พร้อมกับคำตอบที่ได้รับในข้อสงสัย ซึ่งไม่ใช่เรื่องของการสร้างบ้านด้วยดินแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องอื่นๆ ด้วย สำหรับฉันแล้ว การมาเป็นอาสาสมัครในครั้งนี้ กลับกลายเป็นว่าฉันไม่ได้มาเพื่อเป็นผู้ให้ แต่เป็นการมาเพื่อเรียนรู้เพื่อที่จะกลับไปเป็นผู้ให้กับสังคมต่อไป ฉันเชื่อว่าถ้าเราอยู่กันต่อนานกว่านี้อีกสักนิดก็คงจะดีไม่น้อย บางทีตอนที่ข้าวออกรวงพร้อมสำหรับการเก็บเกี่ยว เราอาจจะมาช่วยกันเกี่ยวข้าว และตอนนั้นพวกเราอาจได้เจอกันอีกครั้งที่โรงเรียนโรงเล่นของกลุ่มรักษ์เขาชะเมา

Copyright@ 2006 Bangkok Forum
บางกอกฟอรั่ม เลขที่ 104, 106 ถ.แพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทร. 02-228-1362-3 และ 02-622-2316โทรสาร 02-228-1362 หรือ www.bangkokforum.net หรือ [email protected]