หน้าแรก I ติดต่อบางกอกฟอรั่ม I เกี่ยวกับบางกอกฟอรั่ม I  English version   I  Webboard บางกอก
 
บ่มเพาะ... ทวีวัฒนา
 

เขตทวีวัฒนา “ พื้นที่เกษตรกรรมชานกรุง ” ยังคงความอุดมสมบูรณ์ของผลิตผลพืชผักเกษตรกรรมเต็มรูปเเบบยังมีให้เห็นที่นี่ การทำนาปลูกข้าว ทำสวนปลูกผลไม้แซมด้วยพืชผักในรูปเเบบผสมผสานอย่างลงตัว

“ เขตทวีวัฒนา ” พื้นที่เขตชั้นนอกของกรุงเทพมหานครด้านทิศตะวันตก โดยมีทิศเหนือติดแขวงศาลาธรรมสพน์ เขตตลิ่งชัน ทิศใต้ติดเขตบางเเค เขตหนองเเขม ทิศตะวันออกติดกับเขตตลิ่งชัน เเละทิศตะวันตกติดอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม รวมอาณาเขตกว่า 50.219 ตร . กม . ภูมิประเทศส่วนใหญ่ด้วยคูคลองธรรมชาติ ซึ่งถ้า หากขับรถขยับถอยไกลออกมาหน่อย เราจะเห็นคลองจำนวน 14 สายเส้นยาวราวเส้นเลือดหล่อหลอมเลี้ยงชุมชนผู้คน ที่นี่ ได้แก่ คลองทวีวัฒนา คลองบางระมาด คลองดำเนิน คลองยายโมง คลองมหาสวัสดิ์ ฯลฯ มีอายุเรื่องราวคราวร้อยปีเทียบได้กับบรรพบุรุษรวมหลายรุ่นของชุมชน เเละหากจะให้เวลากับการนั่งศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของคลองเเละคนสิ่งมีชีวิตที่อยู่ควบคู่กันมา คงพบสิ่งน่าสนใจของคลองเเละค้นเจอคุณค่าของชุมชนเขตทวีวัฒนาอย่างมหาศาล

ดังเช่น “ ศาลาธรรมสพน์ ” ที่ทำให้เรารู้ถึงที่มาว่าคือ “ ศาลาทำศพ ” สำหรับคำว่า ศาลาธรรมสพน์ในปัจจุบันเป็นชื่อเรียกเพี้ยนด้วยความตั้งใจ เเละภูมิปัญญาทางด้านภาษาของบรรพบุรษที่ได้เปลี่ยนศาลาซึ่งตั้งอยู่ริมเรียบคลองที่ใช้สำหรับทำศพผู้เสียชีวิต ที่ฟังดูน่ากลัวให้มาเป็นชื่อของตำบลศาลาธรรมสพน์ อันหมายถึง ศาลาฟังธรรม ซึ่งใช้เรียกมาจนถึงปัจจุบัน

ชุมชนเขตทวีวัฒนา ชุมชนชานกรุงเทพฯ ที่ยังมีสถาปัตยกรรม เเละสิ่งปลูกสร้างอันงดงามละลานตาอยู่อีกมากมายหลากที่หลายทาง สิ่งเเรกที่เห็นเเละสัมผัสถึงความประทับใจได้ในทันทีที่ผ่านเข้ามาในเขตนี้ คือ เส้นทางเเล่นรถที่เลื่อนเคลื่อนมาตาม “ ถนนอุทยาน ถนนสายงามสู่พุทธมณฑล ” จะปรากฏเสาหงส์ที่ถูกสลักเสลาเป็นลวดลายเรียงรายยาวตามเส้นทางที่มุ่งตรงสู่เเดนธรรมะพุทธมณฑล ประดับประดาด้วยเรือนกล้วยไม้หลากสีสันมีน้ำพุน้ำตกตระการตาเพิ่มความงดงามน่าหลงไหลให้กับชุมชนเเห่งนี้มากยิ่งขึ้น

เเละหากจะพูดถึงความสวยงามอีกด้านหนึ่งที่มีมากไม่เเพ้กัน คือ “ วัดปุรณาวาส ” เป็นวัดราษฎร์ที่เคารพนับถือของชาวชุมชนเขตทวีวัฒนา สร้างขึ้นราวปี พ . ศ .2327 ตั้งอยู่ริมคลองมหาสวัสดิ์ด้านทิศใต้ติดกับทางรถไฟ เดิมวัดนี้เรียกว่า “ วัดนก ” หรือ “ วัดกลางคลอง ” เพราะเคยเป็นสถานที่ที่มีนกอาศัยอยู่ชุกชุม เเละตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างปากคลองมหาสวัสดิ์ทั้งสองข้าง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จตรวจคลองโดยได้พระราชทานทรัพย์เเก่นายบุญ เเละได้พระราชทานนามวัดว่า “ วัดราชบุญธรรม ” ต่อมาได้เปลี่ยนนามวัดใหม่อีกครั้งว่า “ วัดปุรณาวาส ” ซึ่งใช้เรียกมาจนถึงปัจจุบัน

เเต่หากใครอยากจะเปลี่ยนบรรยากาศเพิ่มความคึกคักให้กับชีวิตมากยิ่งขึ้น คงต้องเดินไปเยี่ยมชมเเถวตลาดธนบุรีหรือสนามหลวงสอง ซึ่งตลาดธนบุรีถือเป็นเเหล่งจับจ่ายสินค้าเเห่งใหม่ของเขตทวีวัฒนา ตั้งอยู่บนเนื้อที่หลายสิบไร่ เป็นตลาดรวมพืชผักผลผลิตทางการเกษตรไว้ทุกชนิด ทั้งอุปกรณ์ตกเเต่งสวน เเละสัตว์เลี้ยงต่างๆ นอกจากนั้นยังเป็นตลาดกล้วยไม้ที่ใหญ่ที่สุด โดยในบางวันตลาดเเห่งนี้จะกลายเป็นตลาดขายของเก่าคล้ายตลาดคลองถมที่มีสินค้ามือสองทุกประเภทวางขายจำหน่ายกันอย่างคับคั่ง

อีกสิ่งสำคัญที่ยังอยากพูดเล่าท้าวความเรื่องราวของชุมชนเขตทวีวัฒนาให้ได้รู้กัน คือ เรื่องราวของ “ ชุมชน ” กับ “ วิถีวัฒนธรรมความเป็นอยู่ ” สองสิ่งที่มักเกิดขึ้นเเละบรรจุอยู่คู่กันเสมอ ชุมชนวัดปุรณาวาส ชุมชนหลังสถานีรถไฟศาลาธรรมสพน์ และชุมชนประตูน้ำฉิมพลีคือชุมชนเก่าดั้งเดิมของที่นี่ ผู้คนชุมชนเขตทวีวัฒนาส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตเเบบชาวนา พวกเขายึดการทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักมาตั้งเเต่อดีตสมัยเเรกเริ่มก่อร่างสร้างชุมชน เเม้ว่าปัจจุบันอาจลางจางหายไปบ้าง แต่ถึงอย่างไรร่องรอยของวิถีคนทำนายังคงเป็นภาพปรากฏของชุมชนเขตทวีวัฒนา ประเพณีวัฒนธรรมสิ่งสำคัญอีกอย่างที่ยังคงมีการสืบทอดอย่างเคร่งครัด และมีเกิดขึ้นหมุนเวียนเปลี่ยนไปตลอดทั้งปี

“ ประเพณีเล่นเพลงขอทานกระยาสารท ” เป็นประเพณีหนึ่งในเทศกาลสารทของชาวทวีวัฒนาที่จะกวนกระยาสารทเพื่อนำไปทำบุญถวายพระที่วัด โดยประเพณีนี้ได้เรียกตามการละเล่นขอทานกระยาสารทที่เกิดขึ้นพลางระหว่างเส้นทางที่ไป ซึ่งมีกติกาอยู่ว่าผู้เล่นจะมีการพรางตัวเป็นขอทาน เเล้วพายเรือร้องเพลงไปตามคลองเพื่อขอกระยาสารทกันอย่างสนุกสนาน

“ ประเพณีทอดกฐินทางเรือเเละการเเข่งเรือหน้ากฐิน ” เป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาในช่วงหนึ่งเดือนหลังออกพรรษา ซึ่งถือเป็นเทศกาลช่วงเวลาหน้ากฐินที่ชาวชุมชนเขตทวีวัฒนาจะมีการทอดกฐินทำบุญที่วัด หลังจากนั้นจะมีกิจกรรมการเเข่งเรือซึ่งเป็นกิจกรรมรวมผู้คนได้อย่างมหาศาล รวมถึงเป็นกิจกรรมสร้างความสามัคคีเเละความสนุกสนานได้มากไม่เเพ้กัน

กลุ่มผู้คนชุมชนและกิจกรรมเป็นสิ่งสร้างชีวิต เพิ่มสีสันให้กับที่นี่ ชุมชนเขตทวีวัฒนาหลากรุ่นหลายวัยมีการรวมตัวจับกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ กันอย่างคึกคัก “ กลุ่มผลิตภัณฑ์เรซิน หมู่บ้านร่วมเกื้อ ” เป็นกลุ่มตัวอย่างหนึ่งที่มีการนำเรซินวัสดุสำคัญมาใช้ในการประดิษฐ์ปั้นแต่งเป็นงานศิลปะที่สวยงามในรูปแบบต่างๆ ทั้งตุ๊กตาขนาดเล็กใหญ่ ถ้วย จาน ชาม ไห และหลากรูปแบบของความคิดและจินตนาการที่ล้วนแต่มีความประณีตบรรจงจนได้รับการคัดเลือกเป็นสินค้น OTOP ระดับห้าดาวและถูกจัดวางขายส่งจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้ไม่น้อยเลย

นอกจากนั้นยังมีกลุ่มกิจกรรมน่าสนใจอีกหลายอย่าง อาทิเช่น ชมรมมาลัยดินหอมมะลิ กลุ่มแอโรบิก กลุ่มไทเก๊ก และกลุ่มออมทรัพย์ ซึ่งเป็นอีกกิจกรรมการพัฒนาเครือข่ายชุมชนเขตทวีวัฒนา ที่มีการรวมกลุ่มสมาชิกในชุมชนเกือบ 600 คน โดยได้รับการสนับสนุนกิจกรรมจากกรุงเทพมหานคร

และสิ่งพิเศษเป็นเรื่องน่าสนใจไปกว่านั้น คือ ชุมชนเขตทวีวัฒนาที่มีการรวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายที่มีชื่อเรียกว่า “ เครือข่ายชุมชนทวีวัฒนา ” นี้ เป็นเครือข่ายที่เกิดจากการรวมตัวของสมาชิก 9 ชุมชนในเขตทวีวัฒนา คือ ชุมชนร่วมเกื้อ ชุมชนบางพรหมร่วมใจ ชุมชนกอบแก้ว 1 ชุมชนวัดปรุณาวาส ชุมชนหมู่บ้านสุขทวี 1,2 ชุมชนพฤกษา ชุมชนวัดประตูน้ำฉิมพลี ชุมชนสินพัฒนาธานี และชุมชนหลังสถานีรถไฟศาลาธรรมสพน์ เพื่อร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ ในชุมชน เช่น กิจกรรมงานวันลอยกระทง งานแห่เทียนพรรษา หรือกิจกรรมกลุ่มออมทรัพย์ ข้างต้น โดยเครือข่ายชุมชนทวีวัฒนานี้จะมีการประชุมพูดคุยกันเป็นประจำทุกเดือน ที่หมู่บ้านร่วมเกื้อ ซึ่งเครือข่ายนี้มีการจัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมา

ภาพความสวยงามทางด้านกายภาพ ความเป็นมาอันยาวนานของการก่อร่างสร้างชุมชน วิถีความเป็นอยู่ของผู้คนที่ยังคงยึดโยงอยู่กับประเพณีวัฒนธรรม ความสัมพันธ์ ความรักและอาทร เป็นสิ่งเชื่อมประสานให้ผู้คนชุมชนเขตทวีวัฒนาแห่งนี้กลายเป็นชุมชนน่าอยู่ที่เต็มไปด้วยทุนล้ำค่าที่ไม่สามารถแปรเปลี่ยนประมวลค่าเป็นเงินทองได้แต่อย่างใด พอมาถึงตรงนี้ ความยากง่ายของมันไม่ใช่อยู่ที่การจะมีหรือไม่มีอีกต่อไป หากแต่ว่า สิ่งที่ต้องคิดต่อ ณ ขณะช่วงเวลานี้คือ การจะรักษาทรัพย์สินสิ่งล้ำค้านี้ให้คงอยู่คู่ชุมชนให้ยาวนานตลอดไปได้อย่างไร

Copyright@ 2006 Bangkok Forum
บางกอกฟอรั่ม เลขที่ 104, 106 ถ.แพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทร. 02-228-1362-3 และ 02-622-2316โทรสาร 02-228-1362 หรือ www.bangkokforum.net หรือ [email protected]