พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก
สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งของเขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก ตั้งอยู่ที่ถนนฉลองกรุง แขวงลำผักชี เขตหนองจอก เป็นสถานที่รวบรวมข้อมูล ประวัติความเป็นมา วิถีชีวิต ภูมิปัญญาของผู้คนในท้องถิ่นของเขตหนองจอก
จากวิถีชีวิตที่มีความผูกพันอยู่กับธรรมชาติ ส่งผลให้ชาวหนองจอกมีความเป็นอยู่เรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ และได้สร้างสรรค์ผลงานจากภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าผ่านทางงานฝีมืออันประณีตและเครื่องใช้ไม้สอยทางด้านเกษตร ด้านหัตถกรรม และด้านอื่นๆ จนสามารถสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักอย่างมากมาย
ในพิพิธภัณฑ์ขนาดที่ไม่ใหญ่โตนักแห่งนี้ อัดแน่นไปด้วยเรื่องราวและสาระความรู้ พร้อมกับจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในอดีตให้ได้ชม เช่น เปลเด็กที่ทำด้วยไม้ไผ่ พลั่วสำหรับตักข้าวเปลือกที่ทำจากไม้เนื้อเบา สุ่ม ข้อง ไซ ยอ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ใช้ในการจับปลา และด้วยความที่ชุมชนในเขตหนองจอกนี้มีคลองอยู่มากมาย เพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำในการเกษตรกรรม และเพื่อการคมนาคมในอดีต ทางพิพิธภัณฑ์จึงได้นำเรือไม้ (ขนาดจำลอง) ในอดีตที่เคยใช้ในการคมนาคมทางน้ำที่หาดูได้ยากมาจัดแสดงไว้ด้วย
ชื่นชมศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น พี่น้องไทยพุทธ ไทยมุสลิมสามัคคี
ประชากรเขตหนองจอกกว่า ๗๕% นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งได้ตั้งรกรากอยู่ในเขตหนองจอกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ นอกจากนั้นยังประกอบด้วยชาวพุทธ คริสต์ รวมถึงชาวรามัญ ซึ่งต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกันโดยมีศาสนาเป็นสิ่งเชื่อมโยงความสัมพันธ์อันดี
ในพิพิธภัณฑ์ยังได้จัดแสดงนิทรรศการการละเล่นพื้นบ้าน ได้แก่ การแสดงลิเกเรียบ ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงของชาวบ้านมุสลิมท้องถิ่นแถบสุเหร่าดารุ้ลอิมาดะห์ ที่เป็นวัฒนธรรมสืบทอดกันมานาน เรื่องราวที่นำเสนอเป็นร้อยกรองภาษาอาหรับ บอกเล่าถึงประวัติของท่านนบีมูฮำหมัด พระศาสดาของศาสนาอิสลาม โดยมีการใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้าน เช่น รำมะนา เป็นเครื่องดนตรีประกอบ การแสดงลิเกเรียบจะแสดงเฉพาะในเทศกาลสำคัญ เช่น งานโกนผมไฟ งานขึ้นบ้านใหม่ งานทำคิดั่น (การลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย) และที่น่าสนใจอีกประการได้แก่ การละเล่นนาเสป ซึ่งเป็นการร้องเพลงพื้นบ้านในงานรื่นเริง เช่น งานแต่งงาน โดยมีลักษณะการร้องโต้กันคล้ายลำตัด แต่จะมีการใช้กลองทอมให้จังหวะ เนื้อหามักจะเกี่ยวข้องกับศาสนา การสรรเสริญพระเจ้า การให้พรเจ้าภาพที่จัดงาน และการหยอกล้อกันของหนุ่มสาว ซึ่งมีให้ชมได้เฉพาะที่มัสยิดฮาซานุดดีน (ศาลาแดง) แห่งเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีบอร์ดนิทรรศการการละเล่นนาซิรของชาวมุสลิม ที่เป็นการขับร้องประสานเสียง โดยไม่มีเครื่องดนตรีประกอบเลยแม้แต่ชิ้นเดียวที่นิยมเล่นในโอกาสที่มีความสุข และงานรื่นเริงต่างๆ เช่นกัน
นอกจากการละเล่นพื้นบ้านของชาวมุสลิมแล้ว ยังมีบอร์ดนิทรรศการประเพณีสงกรานต์และการเล่นสะบ้าของชาวมอญที่วัดใหม่เจริญราษฎร์
มุสลิมที่หนองจอกมีที่มาอย่างไร
สาเหตุที่ในเขตหนองจอกมีชาวมุสลิมอยู่อาศัยเป็นจำนวนมากนั้น สืบเนื่องย้อนกลับไปในอดีตในรัชสมัยของพระพุทธยอดฟ้ามหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี กรมพระราชวังบวรได้นำทัพกวาดต้อนครอบครัวชาวมลายูขึ้นมาจากปัตตานีมาตั้งบ้านเรือนแถบวัดชนะสงคราม ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนาราชโกษาธิบดีเป็นแม่กองจ้างชาวจีนมาขุดคลองแสนแสบเพื่อใช้เป็นเส้นทางการลำเลียงอาวุธและเสบียงในระหว่างสงครามไทยกับเขมร เมื่อขุดคลองเสร็จและสิ้นสุดสงครามแล้ว ทางการจึงนำชาวมุสลิมที่ได้กวาดต้อนมาจาก ๗ หัวเมืองภาคใต้ ให้มาตั้งรกรากทำมาหากินอยู่ตามแนวคลองแสนแสบ และสืบเชื้อสายกันมาจนถึงปัจจุบัน
แสนแสบแสบแค่ไหน ทำไมเรียกคลองแสนแสบ
ด้วยเหตุที่คลองแสนแสบถูกขุดขึ้นโดยกรรมกรชาวจีนในสมัยรัชกาลที่ ๓ ดังนั้นคลองสายนี้จึงมีชื่อเดิมว่า คลองเจ๊ก ตามชื่อเรียกชาวจีน และสาเหตุที่เปลี่ยนชื่อมาเป็นคลองแสนแสบในปัจจุบัน ก็เนื่องจากว่าหลังจากขุดคลองแล้วทำให้มียุงมาก ประกอบกับไม่มียากันยุง ทำให้ชาวบ้านที่ถูกยุงกัดรู้สึกแสบๆ คันๆ จึงมีการเรียกชื่อคลองสายนี้ว่า คลองแสนแสบ
ชมของดี
เขตหนองจอกขึ้นชื่อด้านงานฝีมือ ไม่ว่าจะเป็นการทำกรงนกจากเขาสัตว์ที่มีการจัดจำหน่ายไปยังต่างประเทศ เครื่องจักสาน หมวกถัก และผ้าคลุมผม ล้วนแล้วแต่ประณีตและสวยงามไม่แพ้ที่อื่น รถมอเตอร์ไซด์พ่วงข้าง หรือซาเล้ง ซึ่งเป็นพาหนะที่ชาวหนองจอกและผู้มาเยือนนิยมใช้ในการสัญจร รวมทั้งการละเล่นไก่ชน ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง
นอกจากนี้แล้วยังมีผลิตภัณฑ์ OTOP ชนิดอื่นๆ ที่ชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ผลิตขึ้นมาได้มาจัดแสดงให้ดูด้วย ได้แก่ คุกกี้สมุนไพร แชมพูสมุนไพร และดอกกล้วยไม้ประดิษฐ์
เที่ยวที่เด่น
นอกจากบรรยากาศเงียบสงบของทุ่งนาในเขตหนองจอกแล้ว ความหลากหลายทางศาสนาของเขตหนองจอก ทำให้มีสถานที่สำคัญที่เป็นศาสนสถาน อาทิ วัดหนองจอก, โบสถ์นักบุญเทเรซ่า, มัสยิดดารุ้ลมุตตะกีน, สำนักจุฬาราชมนตรีและสำนักคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย นอกจากนี้แล้วยังมีสถานที่อื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ โรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ที่ชุมชนแผ่นดินทองคอยรุตตั๊กวา ซึ่งถือเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งด้วย นอกจากนี้ยังมีชุมชนมอญวัดใหม่เจริญราษฎร์ ซึ่งเป็นชุมชนชาวมอญที่ยังสามารถรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าแก่เอาไว้ได้
หมายเหตุ พิพิธภัณฑ์เปิดทำการทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ และวันอังคาร เวลา 08.30-16.30 น
ขอขอบคุณ คุณวาสนา นทีพิทักษ์ เจ้าหน้าที่ประจำพิพิธภัณฑ์ฯ ที่เอื้อเฟื้อข้อมูล
เรียบเรียงจาก เอกสารแผ่นพับ แนะนำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก |