พระอุโบสถ เป็น ศิลปกรรมแบบจีนที่สร้าง ในสมัยรัชกาลที่ 3 บานประตูด้านนอกประดับมุกทั้งบาน เขียนลายงดงามมาก ด้านในเขียนลายรดน้ำ บานหน้าต่างเขียนภาพเรื่องในวรรณคดี ส่วนที่บานประตูและผนังด้านในเขียนเรื่องจีน เช่น สามก๊ก ฮก ลก ซิ่ว ด้วยเทคนิคลายรดน้ำผสมสีที่เรียกว่า ลายกำมะลอ ซึ่งนิยมใช้เขียนกันในจีนและญี่ปุ่น สันนิษฐานว่าภาพดังกล่าวอาจเขียนโดยช่างฝีมือจีน ส่วน พระประธานทรงเครื่องปางมารวิชัยเป็นศิลปะสมัยสุโขทัยสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3
พระเจดีย์ เป็นแบบย่อมุมไม้ 20 ฐานเป็นทักษิณ 8 เหลี่ยม ยอดแหลมเรียวสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 บริเวณด้านหน้าพระเจดีย์ประดิษฐานพระสังข์กัจจายน์หรือ “ หลวงพ่อโต”
พระวิหาร เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน หน้าบันประดับปูนปั้นรูปมังกร ส่วนเจดีย์จีนประดับด้วยกระเบื้องสี
พระวิหารเก่า มีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย 2 องค์ มีผู้เล่าว่า มีคนพบของโผล่ขึ้นมาจากพื้นดิน เมื่อทำการขุดก็พบพระพุทธรูป 2 องค์ จึงขนานนามว่า “ พระผุด”
พระประธาน พระพุทธรูปองค์นี้ปรากฏหลักฐานกล่าวไว้ในพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์แต่เพียงว่าเป็นพระทรงเครื่องที่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อประดิษฐานไว้ ณ วัดนาง นอง ซึ่งพระพุทธรูปทรงเครื่ององค์นี้มีลักษณะพิเศษด้วยเครื่องทรงต่างๆ สร้างขึ้นต่างหากจากองค์ พระ สามารถถอดและทรงได้เป็นชิ้น ถือว่าเป็นประติมากรรมชิ้นเยี่ยมของช่างในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะพระมงกุฎของพระพุทธรูปมีประวัติเรื่องราวแปลก พิสดารเป็นพิเศษ เพราะได้ถูกนำไปประดิษฐานต่อยอดนภศุลพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามเมื่อ ครั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ แล้วจึงโปรดให้สร้างมงกุฎองค์ใหม่ถวายคืน พระพุทธรูปวัดนางนองต่อมา
|