หน้าแรก I ติดต่อบางกอกฟอรั่ม I เกี่ยวกับบางกอกฟอรั่ม I  English version   I  Webboard บางกอก

ความหลากหลายในบริบทสังคมหนองจอก
กับการแบ่งปันเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะ
โดย ตัวกวนบางกอก 13 มีนาคม 2550

 

วันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ 2550 ที่ผ่านมา พวกเราชาวคณะทำงานโครงการสนับสนุนการก่อตั้งกองทุนสุขภาวะกรุงเทพ ได้เดินทางไปเขตหนองจอก เพื่อเตรียมการจัดกระบวนการพูดคุยแบบสุนทรียสนทนา หรือ dialogue ที่จะได้จัดขึ้นในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2550 เราคุยกับพี่ ๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ฯ เพื่อเตรียมความพร้อมและซักซ้อมวัตถุประสงค์การจัดกระบวนการพูดคุย ว่าเป็นผลต่อเนื่องจากการพูดคุยด้วยกระบวนการ dialogue ที่พนาศรมรีสอร์ท และเรือนไทย มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา (Dialogue ครั้งที่ 1-2 ภายใต้โครงการสนับสนุนการก่อตั้งกองทุนสุขภาวะปี 2550-2551 ) ที่พวกเราได้ร่วมถอดชุดประสบการณ์การทำงานโครงการ ฯ ในปี 2548 ซึ่งชื่อของโครงการในครั้งนั้นได้ใช้ชื่อว่า “ โครงการวิจัยและพัฒนามูลนิธิชุมชนกรุงเทพ ”

กระบวนการประชุมเพื่อถอดบทเรียนการขับเคลื่อนโครงการในปี 2548 ที่จัดขึ้น ณ พนาศรมรีสอร์ท ได้ใช้กระบวนการ Dialogue หรือ สุนทรียสนทนา เพื่อให้เกิดการเลื่อนไหลของความหมาย การรับฟังกันอย่างลึกซึ้งตั้งใจอันนำไปสู่กระบวนการขับเคลื่อน “ โครงการสนับสนุนการก่อตั้งกองทุนสุขภาวะกรุงเทพ ”

จากการทดลองใช้เครื่องมือการประชุม คือ กระบวนการ dialogue ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ทราบข้อมูลที่เป็น “ ความรู้ฝังลึก ” ของแกนนำที่เข้าร่วมขับเคลื่อนโครงการ ฯ ร่วมกับเราในช่วงปีที่ผ่านมา จนนำมาสู่การตีความหมายของสิ่งที่ได้รับเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายของโครงการ ฯ ดังนั้น พวกเราจึงไปที่เขตหนองจอกเพื่อเตรียมกระบวนการพูดคุยดังกล่าว ตามประเด็นการพัฒนาสุขภาวะของชาวหนองจอก โจทย์ในการพูดคุยของวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2550 นี้ คือ “ ความหลากหลายในบริบทสังคมหนองจอกกับการแบ่งปันเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะ ”

สังคมหนองจอกมีบริบทที่มีความหลากหลายสูงมาก กล่าวคือ ยังเป็นพื้นที่กึ่งสังคมเมืองและสังคมชนบท หลาย ๆ แห่งยังมีการทำนา และการเกษตรอยู่มาก ขณะเดียวกันความเจริญก็เข้ามาในพื้นที่ ดังเช่น กรณีสนามบินสุวรรณภูมิ หรือบ้านจัดสรร ที่นำพาคนต่างถิ่นเข้ามาพำนักอาศัยในหนองจอก แล้วนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมากมาย อาทิ ด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เหล่านี้ล้วนทำให้หนองจอกต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามา

โจทย์การพูดคุยด้วยกระบวนการสุนทรียสนทนา หรือ dialogue ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2550 คือ ท่ามกลางความหลากหลายนี้ชาวหนองจอกจะร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรทุนของตนเองเพื่อยังให้เกิดสุขภาวะแก่ทุกคนได้อย่างไร ซึ่งเริ่มแรกเลยอาจต้องคิดเรื่องการรื้อฟื้นสังคมหนองจอกให้เป็นชุมชนแห่งการให้และแบ่งปัน

ในขณะที่ พวกเราเข้าไปที่โรงเรียนอิสลามลำไทร เพื่อนัดพบแกนนำบางท่านที่ร่วมโครงการ ฯ ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2550 นั้น พวกเราทราบที่หลังว่า โรงเรียนกำลังจัดงานพิธีมอบประกาศนียบัตรให้กับเด็กนักเรียนที่จบการศึกษาระดับอนุบาลในห้องประชุม

ส่วนเวทีด้านนอกห้องประชุมกำลังจัดงาน “ ชาวลำไทรรำลึก ” บรรยากาศภายในงานดูอบอุ่น และมีความหมาย ทุกฝ่ายกำลังช่วยกันจัดงานนี้เพื่อเยาวชนที่อยู่ในโรงเรียน น้อง ๆ เยาวชนอายุไม่มาก เพียงแค่ 8-9 ขวบ ต่างทะยอยมา " ประกวดการอ่านพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่าน" และมีเด็ก ๆ บางส่วนช่วยกันขายบัตรอาหารเพื่อจะได้นำเงินมาสะสมไว้เพื่อการพัฒนาด้านการศึกษาของเยาวชนในชุมชน

สำหรับทรัพยากรที่นำมาจัดงานรวมทั้งเพื่อสะสมสำหรับการดำเนินงานต่อไปของโรงเรียน ฯ คือ ช่วยกันคนละเล็กละน้อย ด้วยการออกร้านอาหาร ซึ่งทั้งผู้ปกครอง อาจารย์ในโรงเรียน ชาวบ้านในชุมชน ต่างทำอาหารมาออกร้านเป็นซุ้ม ๆ เช่น ซุ้มขายน้ำ ซุ้มขายข้าวมันไก่ โดยเฉพาะซุ้มขายกล้วยทอด หรือกล้วยแขกนั้น นับว่าเป็นซุ้มขิงแก่เลยก็ว่าได้ เพราะชาวชุมชนที่เข้ามาช่วยงานในซุ้มนี้มีอายุรวมกันเกือบจะ 2,000 ปี เราได้คุยกับยายที่มาช่วยขาย แกเล่าให้ฟังว่า “ กว่าจะตามหากันครบ และเดินมาโรงเรียนใช้เวลานานมาก เพราะมีอายุรวมกันร่วมจะ 2,000 ปีแล้ว ”

คำพูดของยายทำให้เราคิดถึงในอดีตที่ชาวชุมชน โรงเรียน และศาสนสถาน ต่างรวมกันเป็นเนื้อเดียวไม่มีการแบ่งแยก มีความโอบอ้อมอารี ที่ยังคงเห็นได้ในสังคมหนองจอก แต่ในอนาคต เราไม่รู้ว่าจะเป็นแบบนี้ได้อีกนานแค่ไหน

เราคุยกับพี่ ๆ ที่มาออกร้านขายอาหารยิ่งทำให้รู้ว่าเขามากันด้วย “ ใจ ” จริง ๆ เพราะต้องออกเงินซื้อวัตถุดิบมาทำอาหาร และต้องมากออกร้านขายเองเพื่อนำรายได้เข้าโรงเรียน ไม่มีใครออกค่าใช้จ่ายให้

รูปธรรมที่เห็นนำไปสู่การขบคิดถึงคำว่า “ การช่วยเหลือพึ่งพากัน ” หรือ “ การบริหารจัดการทุน ” ของเขาที่มีอยู่ เพื่อนำไปสู่การสร้างเสริมสุขภาวะให้แก่คนในพื้นที่ ในกรณีนี้ คือ โรงเรียนอิสลามลำไทร ที่มีบุตรหลานของคนในชุมชนเรียนอยู่ และทุกคนต่างเต็มใจที่จะช่วยกันจัดการทรัพยากรทุนของตนเองด้วยการระดมทุนทางสังคม (การร่วมมือกันมาขายอาหารออกร้าน) และบริจาคเงิน (ทุนเงิน) ช่วยกัน เพื่อทำให้เกิดความเข้มแข็งของพื้นที่ของเขา

งานของชุมชนลำไทรในวันนี้ ทำให้พวกเราอิ่มเอมใจอย่างบอกไม่ถูก อาจเนื่องมาจากการช่วยเหลือกันเล็ก ๆ น้อยที่เปรียบเหมือนสายใยคุ้มกันของชุมชน (ที่มีอยู่แล้ว) ได้นำไปสู่การเป็นชุมชนแห่งการให้และแบ่งปันกันอย่างแท้จริง

Copyright@ 2006 Bangkok Forum
บางกอกฟอรั่ม เลขที่ 104, 106 ถ.แพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทร. 02-228-1362-3 โทรสาร 02-228-1362 หรือ www.bangkokforum.net หรือ [email protected]