หน้าแรก I ติดต่อบางกอกฟอรั่ม I เกี่ยวกับบางกอกฟอรั่ม I  English version   I  Webboard บางกอก

ภาวะการเป็นผู้นำรุ่นใหม่เพื่อร่วมพัฒนาท้องถิ่น
: บทสังเกตการณ์จากชุมชนบ้านเกาะปอ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่
โดย ตัวกวนบางกอก

 

บทความชิ้นนี้  เป็นการบันทึกเส้นทางการเดินทางไปเกาะปอ ช่วงวันที่ 15-17 พฤษภาคม พ.ศ.2550 ที่ผ่านมาของคณะทำงานโครงการสนับสนุนการก่อตั้งกองทุนสุขภาวะกรุงเทพ จำนวน 3 คน  เพื่อเข้าร่วมสังเกตการณ์การประเมินผลภายในจากคณะประเมินผลของโครงการฯ ในการถอดบทเรียนเหล่าผู้นำในเกาะปอเกี่ยวกับโครงการจัดการทรัพยากรน้ำบนเกาะที่ขาดแคลนในช่วงฤดูแล้ง

เกาะปอ เป็นชื่อที่หลายคนน่าจะไม่คุ้นเคย  หากเอ่ยชื่อ เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ น่าจะมีคนรู้จักมากกว่า แต่ถ้าไปเกาะลันตาได้ การเดินทางต่อไปที่เกาะปอ ก็ไม่ยากเย็นเกินไปนัก เพราะอยู่ใกล้กันแบบมองเห็น แต่ต้องนั่งเรือเล็กต่อไปอีกเกือบ 15 นาที
เกาะปอเป็นเกาะเล็กๆ อยู่ฝั่งทิศตะวันออกของเกาะลันตาใหญ่ ผู้คนบนเกาะนับถือศาสนาอิสลาม เป็นเกาะที่แทบจะไม่มีข้อมูลอยู่ในนิตยสาร หรือหนังสือคู่มือนำเที่ยวเล่มใด ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บนเกาะจะไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นรีสอร์ท บังกะโล หรือบาร์เบียร์ ที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวมุสลิม

หลังจากที่พวกเราออกเดินทางจากสนามบินภูเก็ตในเวลาประมาณบ่ายโมง เราได้มาถึงบริเวณท่าเรือที่บ้านศรีรายา เกาะลันตาใหญ่ ในเวลาประมาณสองทุ่มเศษ ซึ่งเป็นจุดนัดหมายที่ครูประชีพ หมัดนุ้ย แกนนำชุมชนคนหนึ่งของชุมชนบ้านเกาะปอ จะมารับพวกเราข้ามไปยังเกาะปอ

พวกเราข้ามทะเลจากเกาะลันตาใหญ่ไปยังเกาะปอด้วยเรือประมงขนาดเล็ก ท่ามกลางบรรยากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝนในยามค่ำคืน เมื่อเท้าแรกเหยียบที่ท้ายครัวบ้านหลังหนึ่งริมชายฝั่ง ฝนก็เทกระหน่ำลงมา เหมือนว่าอัดอั้นที่จะตกอยู่นานแล้ว  พวกเรารีบลงจากเรือ หาที่หลบฝน เมื่อฝนเริ่มซา พวกเราก็นั่งมอเตอร์ไซค์เข้าไปที่โรงเรียนบ้านเกาะปอ ซึ่งเป็นโรงเรียนประถมศึกษา  และเป็นโรงเรียนเพียงแห่งเดียวที่อยู่บนเกาะแห่งนี้

เหล่าผู้กล้า ผู้นำแบบใหม่ที่รวมตัวเพื่อสร้างสรรค์ท้องถิ่น
พวกเราสามสหาย ดั้นด้นตามทีมอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ประเมินผลภายในของโครงการ ฯ เพื่อสังเกตการณ์การประเมินภายในอย่างมีส่วนร่วมของโครงการจัดการทรัพยากรน้ำบนเกาะ ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก UNDP ที่เข้ามาช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง นับจากที่ชุมชนชาวเกาะปอ ประสบพิบัติภัยสึนามิ   หากกล่าวเพียงเท่านี้ อาจจะดูไม่น่าสนใจให้ต้องเดินทางกันมาที่นี่ แต่การณ์กลับไม่ใช่เช่นนั้น   เพราะโครงการจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชนแห่งนี้ มีวิธีการบริหารจัดการแบบการใช้ศักยภาพของคนในชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการ โดยที่ UNDP ไม่ได้มาสั่งการ หรือมีรูปแบบของกิจกรรมที่ตายตัว มาบอกให้ชาวบ้านต้องทำอย่างนั้น อย่างนี้  ซึ่งพวกเราเห็นว่า การจัดการแบบนี้ เป็นการจัดการที่ดี เพราะช่วยให้กลุ่มชาวบ้านได้สิ่งที่ตรงกับความต้องการของเขา แต่ทั้งนี้ ชุมชนที่ทำโครงการจะต้องเป็นชุมชนที่เข้มแข็งมาก จนกระทั่งได้รับความไว้วางใจจากหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน เช่น UNDP ให้กลุ่มชาวบ้านบริหารจัดการกันเอง 

                พวกเราเห็นว่า ปัจจัยสนับสนุนหรือช่วยเหลือที่ปราศจากเงื่อนไข หรือรูปแบบที่ชัดเจนจนตายตัวใด ๆ ของหน่วยงานสนับสนุนนั้น ช่วยให้ชาวบ้านคิดวิเคราะห์กันเองได้อย่างเต็มที่ว่า จะทำอย่างไรจึงจะทำให้โครงการที่ทำนั้นสามารถเกิดประโยชน์สูงสุดกับชุมชนจากทรัพยากรที่ได้มา  ทั้งนี้เป็นการคิดอย่างอิสระ และนอกกรอบ แต่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของพื้นที่เกาะปอ  เพราะส่วนมากแล้ว หน่วยงานต่าง ๆ ที่ให้การสนับสนุน หรือช่วยเหลือมักมาพร้อมเงื่อนไข หรือรูปแบบการช่วยเหลือที่ชัดเจนจนตายตัว โดยไม่เอื้อให้ชาวบ้านได้คิดหรือบริหารจัดการกันเองเลย
1
พวกเราแกะร่องรอยกระบวนการทำงานในการบริหารทรัพยากรทุนของชาวบ้านได้ว่า ชาวบ้านได้เลือกใช้วิธีการที่ให้ชาวบ้านแต่ละคนสามารถเสนอสิ่งที่ตนเองอยากจะพัฒนาเกี่ยวกับแหล่งน้ำที่อยู่บนเกาะ โดยจะมีกลุ่มแกนนำชาวบ้าน มารวบรวมความคิดเห็นที่เสนอเข้ามาทั้งหมด เพื่อนำไปคัดเลือกสิ่งที่เป็นไปได้ และสามารถดำเนินการได้มากที่สุดภายใต้ข้อจำกัดที่มี หลังจากนั้นจึงนำมาเสนอในที่ประชุมชุมชน ซึ่งในช่วงการนำเสนอเพื่อคัดเลือกร่วมกันนั้น หากมีใครไม่เห็นด้วย หรือคัดค้าน ก็จะมีการประชุมร่วมกันอีกครั้ง เพื่อให้เป็นมติร่วมของคนทั้งชุมชนจริง ๆ
 
Copyright@ 2006 Bangkok Forum
บางกอกฟอรั่ม เลขที่ 104, 106 ถ.แพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทร. 02-228-1362-3 โทรสาร 02-228-1362 หรือ www.bangkokforum.net หรือ [email protected]