บางกอกฟอรั่ม คือ องค์กรพัฒนาเอกชนอิสระ
ที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมให้ประชาชนตื่นรู้
มีจิตสำนึกแห่งความเป็นพลเมืองที่
ร่วมรับผิดชอบต่อสาธารณะ เป็นธุระให้ส่วนรวม
บางกอกฟอรั่มทำหน้าที่เป็นผู้เอื้อเชิงกระบวนการ
(Facilitator) ชวนคิด ชวนคุย จัดกระบวนการเรียนรู้
และเสริมพลังให้ปัจเจกบุคคล กลุ่ม ชุมชน เครือข่าย
รู้และตระหนักถึงบทบาทและพลังในการขับเคลื่อน
สร้างสรรค์เมืองให้มีชีวิตชีวาของตนเอง

   

เรื่องเล่าจากแพร่

เมืองแพร่ เป็นจังหวัดเล็กๆ ที่เงียบสงบทางภาคเหนือของประเทศไทย เดิมเคยมีสินค้าประจำจังหวัดที่ทำรายได้เป็นมูลค่ามหาศาล ส่งผลให้มีการพัฒนาการของเมืองอย่างก้าวกระโดดเมื่อประมาณแปดสิบปีที่ผ่านมานั่นคือ ไม้สัก ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วกันว่าเป็นไม้ที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก

หลังจากสิ้นยุคการปกครองแบบขันห้า (แบบเจ้านายฝ่ายเหนือ ที่รับอิทธิพลมาจากราชวงศ์เชียงแสน) มาสู่การปกครองจากสยาม โดยขึ้นตรงกับกรุงเทพฯ ส่งผลให้ความเป็นอยู่ของชาวเมืองแพร่ในเรื่องการปลูกสร้างบ้านเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ไม่สามารถจะตัดเอาไม้สักไปสร้างบ้านได้ เพราะถือว่าเป็นของเจ้านาย แต่เมื่อหมดยุคเจ้านาย ชาวเมืองแพร่จึงนำไม้สักที่มีขึ้นตามธรรมชาติอย่างมากมายในละแวกใกล้บ้านมาเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้างบ้าน โดยได้รับอิทธิพลจากฝรั่งที่มาทำไม้ ชาวจีนที่มาช่วยทำทางรถไฟก็ถ่ายทอดฝีมือการก่อสร้างให้ด้วย ผลที่ได้จึงเป็นสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะเฉพาะของคนเมืองแพร่ ไม่เหมือนบ้านไทลื้อ ไม่ใช่บ้านกาแล แต่มีหลากหลายรูปแบบ ตอบสนองตามการใช้งาน แต่กระนั้นก็มีบ้างบางหลังที่ได้รับอิทธิพลจากภาคกลาง กล่าวคือเป็นเรือนชั้นเดียวใต้ถุนสูง มีจั่วรูปดวงอาทิตย์ นอกจากนี้ก็ยังมีทั้งเรือนค้ามีทางเดินด้านหน้าต่อทอดกันยาวหลายคูหาที่บริเวณช่วงถนนเจริญเมือง อาคารบ้านเรือนเหล่านี้ล้วนผูกพันกับรากฐานการใช้ชีวิตโดยปกติทั่วไปของคนเมืองแพร่ บ้านบางหลังชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลาจนต้องรื้อแล้วปลูกอาคารคอนกรีตขึ้นมาแทน ซึ่งในแง่คุณค่าแล้วเปรียบเทียบกันไม่ได้เลย

ช่วงที่กลับมาอยู่ที่แพร่ใหม่ๆ ผมยังพอมีเวลาว่าง ก็ปั่นจักรยานไปรอบๆ ตัวเมืองพร้อมกับกล้องถ่ายรูป ได้เจอบ้านสวยๆ หลายหลังที่ถูกรื้อขายเป็นเศษไม้อย่างน่าเสียดาย บางหลังมีอายุไม่ต่ำกว่าแปดสิบปี ในใจก็คิดว่าเราจะทำอย่างไรได้บ้างที่จะรักษาบ้านเหล่านี้เอาไว้ได้ เพราะจะว่าไปแล้วมูลค่าของบ้านที่ถูกขายเป็นเศษไม้ มันเทียบไม่ได้เลยกับคุณค่าของฝีมือช่าง และจิตวิญญาณที่คงเอกลักษณ์ของเมืองแพร่เอาไว้ ไม่เหมือนกับจังหวัดอื่นๆ ที่เหลือบ้านไม้อยู่น้อยเต็มที และอีกอย่างหนึ่งก็คือ การจะหาไม้สักในปริมาณมากพอที่จะสร้างบ้านไม้ทั้งหลัง ดูจะเป็นเรื่องยากในปัจจุบัน เพราะปัจจุบันมีปริมาณไม้สักที่มีขนาดและอายุของไม้ที่เหมาะสมไม่มากนัก จึงเป็นสาเหตุที่พ่อค้าไม้ชาวเมืองแพร่สบโอกาสที่จะหาซื้อบ้านไม้เก่าแล้วนำมาแปรรูปต่อ รวมทั้งไม้เก่ายังเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากในหมู่ผู้นิยมงานไม้อีกด้วย

สาเหตุที่บ้านไม้เมืองแพร่ ถูกรื้อขายไปอย่างง่ายดายอย่างหนึ่งก็คือ การย้ายที่อยู่ของเจ้าของบ้าน สำหรับเมืองที่ได้รับรางวัลเมืองน่าอยู่อันดับสามของประเทศ ยังไม่มีแรงดึงดูดใจเพียงพอที่จะทำให้หลายครอบครัวยังอยากจะอยู่เมืองแพร่ต่อไป เพราะสวนทางกับแนวคิดของเศรษฐกิจโลกที่เน้นการส่งคนเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและการผลิต รวมทั้งการจ้างงานในเมืองใหญ่ตลอดสี่สิบปีที่ผ่านมา ผู้คนจากทุกสารทิศต่างมองหาอนาคตและความก้าวหน้าเพื่อสร้างครอบครัวตามทัศนคติของตน คนเมืองแพร่ก็เช่นเดียวกัน ต่างก็มุ่งหวังให้ลูกๆ ได้เรียนดีๆ มีหน้าที่การงาน มีเกียรติ เป็นที่น่านับถือ ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องยากเกินสำหรับคนเมืองแพร่ ทั้งที่เมืองนี้ที่เคยเป็นแหล่งเรียนรู้มาตั้งแต่อดีต

ในที่สุดการส่งออกมันสมองของเมืองแพร่ก็เกิดผลกระทบที่น้อยคนจะรู้สึกและเข้าใจได้ จากการละเลยการค้นหาประวัติศาสตร์ของตัวเอง การขาดรากฐาน ความเข้าใจ และความรู้เท่าทันกลไกอันซับซ้อนของโลกทุนนิยม คนเมืองแพร่ที่เกิดเมืองแพร่ มีบรรพบุรุษที่เคยดูแลปกป้องเมืองให้ จึงละทิ้งบ้านเรือนของตนไปอย่างง่ายดาย บ้านไม้สวยๆ หลายหลังจึงมีจุดจบตรงที่กลายเป็นกองเศษไม้ บางหลังถูกรื้อขายไปตั้งที่อื่น สภาพเมืองแพร่แม้จะเปลี่ยนไปช้ามากในรอบหลายสิบปีแต่ในห้วงสองสามปีที่ผ่านมานี้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก เพราะบ้านไม้นอกตัวเมืองถูกรื้อขายไปเกือบหมดแล้ว พ่อค้าไม้จึงเริ่มเข้ามามองหาบ้านไม้ในตัวเมืองแพร่ ซึ่งก็หาไม่ยากเพราะเจ้าของได้ย้ายไปอยู่ที่อื่น บางหลังมีแต่คนเฒ่าคนแก่อยู่กัน ลูกหลานต่างเข้าไปทำมาหากินในเมืองใหญ่ พอมีคนมาถามซื้อบ้าน จึงตกลงอย่างง่ายดาย ทั้งนี้สาเหตุหนึ่งที่เป็นปัจจัยเสริม ก็คือการได้เงินแบ่งเป็นมรดกให้ลูกหลานง่ายกว่าการแบ่งโฉนดบ้าน

ก่อนที่จะตั้งเป็นชมรมอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองแพร่ เพื่ออนุรักษ์บ้านเก่า ผมได้พูดคุยกับพี่ๆหลายคนที่ทำงานในลักษณะอื่นที่คล้ายคลึงกัน เมืองแพร่เป็นเหมือนเมืองปิด ไม่มีชนชั้นปัญญาชนอยู่มากนัก กลุ่มคนที่มีอยู่มาก นอกจากข้าราชการแล้ว ก็เป็นกลุ่มหอการค้าที่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ไม่มีกิจกรรมใดๆจากกลุ่มภาคประชาชน ผมกับพี่ๆ หลายคน จึงคิดทำโครงการ”ผ่อบ้านแอ่วเมือง” โดยของบประมาณสนับสนุนจากเทศบาลเมืองแพร่ เพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมและอนุรักษ์ภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมของเมืองแพร่ โดยใช้ทรัพยากรเท่าที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ในการสร้างจิตสำนึกร่วมกับคนในท้องถิ่น เพราะในตัวเมืองแพร่จะมีผู้สูงอายุและเด็กเป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของการนำผู้เฒ่าผู้แก่นั่งสามล้อ และชวนเด็กๆลูกหลานมานั่งด้วย โดยในระหว่างทางก็จะมีจุดแวะพักเพื่อพูดคุย บอกเล่าเหตุการณ์ในอดีตจากความทรงจำของวิทยากรรับเชิญ (จำเป็น) ซึ่งกล่าวได้ว่ากิจกรรมที่ทำนี้ ประสบความสำเร็จได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ได้อยู่ในความสนใจเป็นกระแสหลักมากนัก ระหว่างนั้นก็ได้รู้จักเครือข่ายการอนุรักษ์ฯ ผ่านทางพี่วุฒิไกร ผาทอง บ้าง พี่แดง(สุนันท์ธนา แสนประเสริฐ) พี่สหยศ วงศ์บุรี บ้าง เข้าไปเจอเองบ้าง เช่น คุณวีระ สตาร์ (ผู้พยายามจะปรับปรุง คุ้มวิชัยราชา จนไม่เหลือแม้กระทั่งบ้านของตัวเองมาสิบแปดปีเข้าให้แล้ว) และแนวร่วมจากภาคราชการจาก กศน.แพร่ จากสำนักงานวัฒนธรรมแพร่ รวมทั้งองค์กรเอกชนอื่นๆ

จากที่ทำเรื่องอนุรักษ์บ้านเก่า เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ทางชมรมฯ จึงพยายามโยงเข้าไปประเด็นอื่น เช่น ประวัติศาสตร์เมืองแพร่ โดยเลือกเอาเรื่องที่ไม่เก่ามาก เพื่อจะพอมีคนที่จำเรื่องราวได้ จึงเกิดกิจกรรมการฉายหนังเพื่อเชื่อมประเด็นบ้านเก่า เรื่องเก่า หนังเก่าเข้าด้วยกัน โดยตั้งใจให้คนเฒ่าคนแก่ได้ออกจากบ้านมาพบปะพูดคุยกัน อยากเห็นความสุขที่ไม่ได้เห็นมานาน ได้ยินเสียงพูดคุยอย่างมีความสุขของท่านเหล่านั้น อย่างน้อยก็ทำให้มีกำลังใจที่จะทำต่อไป

คำถามต่อมาคือว่าจะทำอีกนานเท่าไหร่ ผมก็จะตอบว่า การรณรงค์ให้คนเมืองแพร่มีจิตสำนึก เกิดความรักบ้านรักเมือง เรียนจบแล้ว ทำงานเก็บเงินสักพัก แล้วกลับมาช่วยกันพัฒนาบ้านเกิดมากกว่าที่เป็นอยู่ โดย นำวิธีการจัดการความรู้แบบใหม่เข้ามาช่วยด้วย

อย่างน้อยๆ ก็ขอทำลายสถิติของคุณวีระ สตาร์ให้ได้ก็แล้วกัน


ชินวร ชมภูพันธ์
ชมรมอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองแพร่