เรื่องเล่าจากค่ายยุวเกษตรเพื่อสิ่งแวดล้อม
  
ปัญหาประการหนึ่งที่เกิดขึ้นในภาคการเกษตรในเขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกข้าวเป็นพื้นที่ประมาณ 60,000 ไร่ ได้แก่ การที่เกษตรกรใช้สารเคมีเพื่อการเกษตรโดยไม่จำเป็นในนาข้าว อันได้แก่ ยาฆ่าแมลง และปุ๋ยเคมี ทำให้ต้นทุนการผลิตข้าวสูงมากขึ้นโดยไม่จำเป็น สารเคมีที่ใช้นั้น ยังทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งเกษตรกรผู้เพาะปลูก และผู้บริโภค ขณะที่การเกษตรแบบอินทรีย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีต้นทุนต่ำกว่า กลับกลายเป็นเรื่องที่เกษตรกรส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะการไม่ใช้ยาฆ่าแมลงในนาข้าว ทำให้เกษตรกรในเขตหนองจอก ยังไม่หันมาทำการเพาะปลูกในแนวทางเกษตรอินทรีย์เท่าที่ควร
เมื่อระหว่างวันที่ 24-27 มีนาคม พ.ศ.2552 ที่ผ่านมา ชมรมฟ้าใส ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรอินทรีย์ในกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้จัดให้มีค่ายยุวเกษตรเพื่อสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 1 ที่ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยี แขวงหนองจอก เขตหนองจอก กรุงเทพฯ การทำค่ายในครั้งนี้เป็นความพยายามครั้งล่าสุดของสมาชิกชมรมฟ้าใส ที่จะเผยแพร่และปลูกฝังแนวคิดในการทำการเกษตรแบบอินทรีย์ให้กับเยาวชนในท้องถิ่น ด้วยการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับเยาวชน เพื่อให้เยาวชนเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่า การทำการเกษตรแบบอินทรีย์นั้น เป็นเรื่องที่สามารถทำได้จริง และเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย ตลอดจนเพื่อให้เยาวชนมีความภาคภูมิใจในอาชีพเกษตรกรรม มีจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรในท้องถิ่น
เยาวชนที่มาเข้าค่ายในครั้งนี้ได้เรียนรู้ในเรื่องแมลงในนาข้าว ที่มีการควบคุมกันเองตามธรรมชาติ แกนนำชมรมฟ้าใสได้นำเยาวชนลงไปใช้สวิงจับแมลงในนาข้าว ก่อนจะให้เยาวชนได้ฝึกการคัดแยกแมลง ทำให้เยาวชนทราบว่ามีแมลงบางชนิด เช่น แมลงปอ มวนเพชฌฆาต แตน แมลงเต่าทอง จิงโจ้น้ำ และอื่นๆ ที่เป็นแมลงตัวห้ำ ตัวเบียนที่คอยจับแมลงศัตรูพืชชนิดอื่นเพื่อกินเป็นอาหาร ซึ่งทำให้เกษตรกรไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีสำหรับฆ่าแมลงแต่อย่างใด
  
นอกจากนี้แกนนำชมรมฟ้าใส ก็ได้จัดกิจกรรมการสอนให้เยาวชนที่มาเข้าค่าย ได้เรียนรู้วิธีการปรับปรุงบำรุงดินด้วยการทำปุ๋ยอินทรีย์ และน้ำหมักชีวภาพ จากวัสดุที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยในเกษตรกรสาสามารถลดต้นทุนการผลิตลงไปได้มาก นอกจากนี้เยาวชนยังได้เรียนรู้จักการทำน้ำสมุนไพรไล่แมลง สำหรับใช้ในกรณีที่เกิดแมลงระบาด และยังได้ฝึกการดำนาโดยใช้มือ ซึ่งปัจจุบันนี้ เกษตรกรในเขตหนองจอก และอำเภอบางน้ำเปรี้ยว ฉะเชิงเทรา ไม่นิยมทำกันแล้ว ทั้งๆ ที่เป็นวิธีที่ทำให้ข้าวในนาไม่หนาแน่นมากเกินไปจนกลายเป็นที่หลบซ่อนตัวของแมลงศัตรูพืช
เยาวชนยังได้เรียนรู้เรื่องการสีข้าวด้วยเครื่องมือแบบดั้งเดิม ได้เรียนรู้เรื่องการปลูกพืชสวน ได้เรียนรู้ในการทำงานร่วมกันเป็นทีม นอกจากนี้ ยังได้รับการอบรมทางด้านจริยธรรม คุณธรรม ให้เป็นคนดีตามหลักศาสนาอิสลาม อีกด้วย
  
ผู้อำนวยการโรงเรียนสุเหร่าปากคลอง 20 ซึ่งได้ส่งนักเรียนเข้าร่วมโครงการ ได้ให้ความคิดเห็นสำหรับค่ายนี้เอาไว้ว่า “คิดว่าเป็นโครงการที่ดีนะคะ ก็เป็นโอกาสที่ดีของโรงเรียนเรา ทางโรงเรียนเราเห็นความสำคัญในเรื่องเกษตรนะคะ เรามีโครงการเกษตรปลอดสารพิษตามแนวพระราชดำริอยู่แล้ว ก็พอดีทางกลุ่มฟ้าใสได้เชิญทางโรงเรียนของเราเข้ามาร่วมโครงการนี้ อันนี้ก็เป็นโอกาสที่ดีของโรงเรียน เพื่อจะได้ให้เด็กได้นำความรู้ที่ได้ในการอบรมในครั้งนี้ไปฝึกปฏิบัติ และให้ความรู้กับนักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนต่อไป ”
ความน่าสนใจอย่างหนึ่งของกิจกรรมค่ายยุวเกษตรเพื่อสิ่งแวดล้อม ของชมรมฟ้าใส ได้แก่ การที่ค่ายในครั้งนี้เป็นการทำงานกันเองของเกษตรกรที่เป็นสมาชิกชมรมฟ้าใส โดยมีองค์กรพัฒนาเอกชนจากภายนอก ได้แก่ บางกอกฟอรั่ม เข้ามาช่วยเสริม เป็นการลงมือทำงานด้วยตนเองของแกนนำชมรมฟ้าใส ในสิ่งที่ตนถนัด โดยใช้ความรู้และประสบการณ์ที่ได้สั่งสมมาได้ระยะหนึ่งจากการเข้ารับการฝึกอบรม การศึกษาค้นคว้า การทดลองลงมือปฏิบัติ และอื่นๆ ตามแนวคิดที่เกิดจากการร่วมกันสร้างวิสัยทัศน์ของสมาชิกชมรมฟ้าใสเมื่อปี พ.ศ.2551 ที่ผ่านมา สิ่งนี้ทำให้เกิดความเข้มแข็งของกลุ่ม และเป็นการยืนยันว่าชมรมฟ้าใสยังคงเดินหน้าต่อไป เพื่อเป็นความหวังเล็กๆ ของการสร้างสรรค์สังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี ด้วยระบบการเกษตรแบบอินทรีย์ในเขตพื้นที่ชานเมืองของกรุงเทพมหานคร
ครรชิต จูประพัทธศรี
บางกอกฟอรั่ม
|