บางกอกฟอรั่ม คือ องค์กรพัฒนาเอกชนอิสระ
ที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมให้ประชาชนตื่นรู้
มีจิตสำนึกแห่งความเป็นพลเมืองที่
ร่วมรับผิดชอบต่อสาธารณะ เป็นธุระให้ส่วนรวม
บางกอกฟอรั่มทำหน้าที่เป็นผู้เอื้อเชิงกระบวนการ
(Facilitator) ชวนคิด ชวนคุย จัดกระบวนการเรียนรู้
และเสริมพลังให้ปัจเจกบุคคล กลุ่ม ชุมชน เครือข่าย
รู้และตระหนักถึงบทบาทและพลังในการขับเคลื่อน
สร้างสรรค์เมืองให้มีชีวิตชีวาของตนเอง

   

 

Machizukuri : การสร้างบ้านแปลงเมืองด้วยทุนทางวัฒนธรรม

 

 

ในเดือน กรกฎาคม ๒๕๕๓ ผมได้รับโอกาสจากเจแปนฟาวน์เดชั่น และบางกอกฟอรั่ม ไปศึกษาดูงานเรื่อง Community Design ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการของ JENESYS โปรแกรม หรือ Japan – East Asia Network of Exchange for Students and Youths ซึ่งต้องการให้เกิดการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่แนวคิดต่างๆ ของประเทศญี่ปุ่นไปยังประเทศต่างๆ ในเอเชีย จึงได้มีการจัดโครงการ JENESYS ขึ้นในหลายหัวข้อ

โครงการ JENESYS หัวข้อ Community Design หรือ การออกแบบชุมชน เป็นการนำเรื่องราวของแนวคิด Machizukuri หรือที่แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Community Design, Town Creation ตามแต่จะมีการเรียกขานกันแตกต่างไป แต่สิ่งที่เป็นแก่นของการสร้างบ้านแปลงเมืองของประเทศญี่ปุ่นตามแนวคิด Machizukuri คงจะกล่าวได้ว่าเป็นการสร้างเมืองบนฐานทุนทางวัฒนธรรมทั้งที่เป็นสิ่งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ อาทิ บ้านเก่า ประเพณี ความเชื่อและจิตวิญญาณ เป็นต้น

 

Machizukuri : สร้างบ้านแปลงเมือง

คำว่า Machizukuri ในภาษาญี่ปุ่นมีความหมายลึกซึ้งมากกว่าการสร้างบ้านเรือนหรือการสร้างอาคารที่อยู่อาศัยที่ทำมาหากิน เปรียบได้กับคำว่า “สร้างบ้านแปลงเมือง” ที่คนไทยคุ้นเคย กล่าวคือการสร้างบ้านแปลงเมือง จะมีชุดความคิด ความเชื่อของสังคม วัฒนธรรม และบริบทต่างๆ กำกับด้วย เช่น การสร้างเมือง การสร้างบ้านจะต้องดูฮวงจุ้ย การสร้างบ้านในที่ลุ่มต้องยกใต้ถุนบ้านเพื่อป้องกันน้ำท่วม  การสร้างเมืองต้องคำนึงถึงเรื่องแม่น้ำ ภูเขา เพื่อยุทธศาสตร์ทางการทหาร การขนส่งและการอุปโภคบริโภค จะต้องมีการสร้างวังอยู่ใจกลาง เพื่อเป็นจุดศูนย์รวมทางจิตใจของผสกนิกรและเพื่อประโยชน์ในการบริหารเมือง วัดจะต้องอยู่ในพื้นที่สูงด้วยความเชื่อเรื่องการแสวงหาและสวรรค์ เจดีย์วัดต้องสูงสง่า มองเห็นได้จากระยะไกล เพื่อเป็นศิริมงคลและการสักการะนับถือของชาวเมือง เป็นต้น

Machizukuri ก็คำนึงถึงหลักต่างๆ ในการสร้างบ้านแปลงเมืองเหมือนในทุกสังคม เช่น บ้านในเขตภูมิอากาศหนาวเย็นจัดในเมืองชิราคาวา เมืองโกคายามา แต่ละปีจะมีหิมะตกหนัก ลักษณะครอบครัวเป็นครอบครัวขยาย บางบ้านมีผู้อยู่อาศัยมากถึง ๒๐ หรือ ๓๐ คน บ้านจึงถูกออกแบบให้มีลักษณะเป็นบ้านหลังใหญ่หลายชั้น มีหลังคาหนากว่า ๕๐ เซนติเมตร และตั้งสูงชัน ทำจากหญ้าคายา เพื่อป้องกันหิมะที่ตกหนักในแต่ละปี การสร้างบ้านในลักษณะนี้จะถูกเรียกว่า Gasshozukuri เป็นต้น

การสร้างบ้านแปลงเมืองตามแนวคิด Machizukuri จะมีชุดความคิดที่กำกับการก่อสร้างหรือสถาปัตยกรรมต่างๆ อยู่เสมอ การก่อสร้างจะไม่เลื่อนลอยจากชุดความคิด ความเชื่อทางสังคมวัฒนธรรม ซึ่งแตกต่างจากการก่อสร้างอาคารสมัยใหม่ที่ยึดกระแสโลกาภิวัตน์ และอรรถประโยชน์ในการใช้สอยพื้นที่ให้คุ้มค่ามากที่สุดเท่านั้น

 

เมื่อผู้คนไขว่คว้ารากเหง้าของตนเอง

แนวคิด Machizukuri ในประเทศญี่ปุ่นได้หวนกลับมาอีกครั้งพร้อมกับค่านิยมของคนในสังคมที่เริ่มย้อนกลับมาให้ความสำคัญกับจิตวิญญาณแห่งความเป็นญี่ปุ่น แม้ว่าสภาพบ้านเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปมากมาย บ้านเก่าเมืองเก่าที่เคยเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของคนญี่ปุ่นจะลดหายไป แต่บ้านเก่าที่ยังคงหลงเหลืออยู่ก็ได้รับการอนุรักษ์และคุ้มครองเป็นอย่างดีทั้งจากกลุ่มคนในชุมชนที่ยังคงเห็นคุณค่า และจากกฎหมาย ข้อบัญญัติต่างๆ ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรัฐบาลกลางจัดทำขึ้นเพื่อการอนุรักษ์คุณค่าทางจิตวิญญาณเหล่านั้นไว้

การสร้างบ้านแปลงเมืองของญี่ปุ่นในสมัยใหม่ จึงอาจแบ่งได้เป็น ๒ กระแส ประกอบด้วย กระแสที่ ๑ คือ การสร้างบ้านเรือนอาคารสมัยใหม่ โดยคำนึงถึงมรดกทางวัฒนธรรม ที่ส่งต่อกันมาผ่านกายภาพโดยรอบทั้งในระดับพื้นที่และในระดับเมือง เช่น การสร้างอาคารสมัยใหม่ที่อยู่ใกล้เคียงพื้นที่ประวัติศาสตร์ วังเก่า ปราสาทเก่า หรือแม้กระทั่งอาคารของเอกชนแต่มีคุณค่าทางมรดกวัฒนธรรม เช่น Gassho House และ Machiya House ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอาคารหรือพื้นที่อนุรักษ์ อาคารสมัยใหม่ที่สร้างขึ้นจะต้องไม่ทำให้เกิดการสูญเสียทัศนียภาพโดยภาพรวมของย่านนั้น โดยคำนึงถึง Guideline Control ของเมือง ซึ่งจะทำให้สามารถรักษาภูมิทัศน์เมือง (Townscape) ไว้ได้ เช่น อาคารที่สร้างขึ้นใหม่ในพื้นที่ใกล้เคียงต้องมีรูปลักษณ์ สีสัน ที่ไม่แปลกแยก ต้องไม่มีการสร้างอาคารที่มีความสูงมากกว่าที่มีข้อบัญญัติไว้ ฯลฯ

กระแสที่สองในการสร้างบ้านแปลงเมือง คือ การใช้พื้นที่หรือทรัพย์สินมรดกทางวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิมเป็นทุนในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เช่น การตกแต่งอาคารบ้านเรือนเก่าให้มีสภาพที่เหมาะสมต่อการใช้งานในรูปแบบต่างๆ  เพื่อดึงดูดผู้คนที่ต้องการแสวงหาจิตวิญญาณแห่งความเป็นญี่ปุ่นให้เข้ามาจับจ่ายใช้สอย โดยเจ้าของบ้านใช้พื้นที่เพื่อการตอบสนองทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการดูแลอาคารบ้านเรือนที่มีคุณค่าทางมรดกวัฒนธรรมและจิตวิญญาณในเวลาเดียวกัน

ยกตัวอย่าง Machiya House หรือ Mercian House  ในบางพื้นที่เคยถูกละทิ้งให้เป็นอาคารหรือพื้นที่เสื่อมโทรม แต่ก็ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้งด้วยการซ่อมแซม ตกแต่ง ตัวอาคารบ้านเรือน และพื้นที่โดยรอบให้กลับมามีชีวิต มีสีสัน มีผู้คนกลับมาจับจ่ายอีกครั้ง โดยการร่วมมือของหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นเจ้าของอาคารบ้านเรือน กลุ่มอนุรักษ์ นักวิชาการ จนกระทั่งถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

นอกจากนี้ อาคารเก่าที่ยังคงมีสภาพดีหลายอาคาร จะได้รับแนวคิด Renovate รวมถึง Refunctioning กล่าวคือ จะใช้แนวคิดการปรับปรุงกายภาพ ปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์การใช้งานของอาคาร แทนที่การรื้อทิ้งและสร้างใหม่ เช่น อาคาร Kyoto Art Center เดิมเคยเป็นโรงเรียนประถมศึกษามาก่อน แต่เมื่อโรงเรียนได้ปิดตัวไป ก็ได้มีแนวคิดที่จะทำ Kyoto Art Center ขึ้นมาแทนที่ด้วยการ Renovate และ Refunctioning ด้วยการตกแต่งภายในใหม่ทั้งหมดเพื่อให้เหมาะสมกับการเป็นศูนย์ศิลปะของเมือง  การ Renovate แม้จะมีค่าใช้จ่ายที่มากกว่าการสร้างใหม่ แต่ในทางกลับกัน ก็ทำให้จิตวิญญาณของอาคาร จิตวิญญาณของพื้นที่นั้นยังคงอยู่และเพิ่มมากขึ้นตามกาลเวลาอีกด้วย

 

สร้างบ้านแปลงเมืองท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การสร้างบ้านแปลงเมืองของประเทศญี่ปุ่นยังสามารถต้านทานหรือต่อสู้กับกระแสการพัฒนาในยุคโลกาภิวัตน์ได้ มีหลายประการ ดังต่อไปนี้

๑. ความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ และรากเหง้าทางวัฒนธรรมของตนเอง คนญี่ปุ่นทั้งเด็กผู้ใหญ่จะได้รับการปลูกฝังค่านิยมความภาคภูมิใจในชาติ ศิลปวัฒนธรรมของตนเอง ซึ่งเห็นได้จากปรากฏการณ์ที่คนทุกเพศทุกวัยยังคงเข้าร่วมกิจกรรมตามประเพณีและยังคงมีการปลูกฝังสืบทอดพิธีกรรมต่างๆ ตามวิถีของความเป็นญี่ปุ่น เช่น พิธีการชงชา การแต่งกายด้วยกิโมโนและยูกาตะ การใฝ่หาและเรียกร้องเอกลักษณ์ความเป็นชาติให้กลับมา ยกตัวอย่างหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในญี่ปุ่นที่ได้นำเสนอกระแสสังคมที่ต้องการให้สร้างปราสาทที่เคยถูกทำลายสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เป็นความภาคภูมิใจของคนร่วมชาติ และเป็นการรื้อฟื้นสัญลักษณ์ของชาติขึ้นมาอีกครั้ง เป็นต้น

๒. จิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบต่อส่วนรวม บุคลิกและค่านิยมที่สำคัญประการหนึ่งของคนญี่ปุ่น คือ ความรับผิดชอบต่อส่วนรวม มีความสนใจต่อประเด็นสาธารณะ สิ่งที่สามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจนในการสร้างบ้านแปลงเมืองของญี่ปุ่น คือ ทุกคนต่างรับผิดชอบในทรัพย์สินหรือบ้านของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นบ้านไม้เก่าหรือบ้านที่ปลูกสร้างใหม่ ก็จะพยายามให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่แปลกแยก เคารพต่อกฎระเบียบของเมืองที่ว่าด้วยการควบคุมอาคารและภูมิทัศน์เมืองอย่างเคร่งครัด  รวมไปถึงการร่วมสนับสนุนชุมชนหรือกลุ่มในชุมชนที่ทำหน้าที่อนุรักษ์บ้านเก่าเมืองเก่าด้วยการบริจาคเงิน เช่น กลุ่มอนุรักษ์บ้าน Gassho House ซึ่งตั้งขึ้นโดยประชาชนใน Shirakawa ซึ่งมีการระดมทุนภายในชุมชนและได้รับงบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติมจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

๓. การเชื่อมประสานและบูรณาการ มีหลายภาคส่วนที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างบ้านแปลงเมือง โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาควิชาการ ภาคเอกชน สื่อมวลชน รวมถึงองค์กรเพื่อสังคมที่ไม่แสวงผลกำไร (Non Profit Organization : NPO) ที่อยู่ในท้องถิ่น ซึ่งเข้ามาประสานงานทั้งด้านข้อมูล การปฏิบัติการ และการสนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน จนสามารถจัดตั้งองค์กรที่ทำหน้าที่เพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูโดยเฉพาะได้ เช่น Kyomachiya.net  รวมถึงสามารถผลักดันให้เป็นนโยบายของท้องถิ่นในการจัดทำ Guideline Control โดยอาศัยหลักภูมิทัศน์เมือง และการสนับสนุนของประชาชนผ่านการทำประชาพิจารณ์และการเก็บข้อมูลเชิงวิชาการ เป็นต้น

๔. ข้อมูลที่น่าเชื่อถือและชี้ให้เห็นข้อเท็จจริง ข้อมูลดังกล่าวมีทั้งส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงที่มีการเก็บรวบรวมเป็นระยะเพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของเมือง ซึ่งสามารถสะท้อนภาพให้ผู้คนตระหนักในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้ ยกตัวอย่างเช่น การทำข้อมูลจำนวน Machiya House ที่มีจำนวนลดลงทุกปี  รวมไปถึงการทำข้อมูลความคิดเห็นของประชาชนต่อประเด็นสาธารณะ ซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้  ข้อมูลทั้งสองส่วนนี้ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันเชิงนโยบายในการอนุรักษ์เมือง

๕. ความเป็นท้องถิ่นนิยมสร้างการรับรู้และความภาคภูมิใจ ไม่ว่าจะไปที่เมืองใด คนในเมืองนั้นๆ จะมีความภาคภูมิใจในเมืองของตนเองเป็นอย่างมาก เช่น ภูมิในในความเป็นคนเกียวโต เป็นคนทาคายามา  เป็นคนโกกายามา ความรักและภูมิใจในท้องถิ่นของตนเองช่วยให้คนในเมืองนั้นรู้สึกรัก หวงแหน และอยากจะอวดหรือนำเสนอของดีของเมืองให้กับนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่มาเยี่ยมเยือน ด้วยเหตุนี้ผู้คนจึงมีส่วนร่วมต่อการดูแลรักษามรดกทางวัฒนธรรมของตนเองทั้งที่เป็นประเพณีวัฒนธรรม และทรัพย์สิน สิ่งปลูกสร้างเป็นอย่างดี

Machizukuri หรือ การสร้างบ้านแปลงเมือง ไม่ได้มุ่งสร้างสรรค์หรือมุ่งอนุรักษ์ฟื้นฟูอาคารหรือสถาปัตยกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ Machizukuri ให้ความสำคัญกับระบบคุณค่าของสิ่งที่จะทำ ทั้งที่เป็นการอนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือสร้างขึ้นใหม่ เพื่อให้ผู้คนตระหนักและเห็นว่าสิ่งที่พวกเขากำลังจะทำด้วยกันนั้นคือสิ่งต้องทำเพื่อส่งต่อสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมอันดีงามของบรรพบุรุษยังคงอยู่ถึงลูกหลานต่อไป

 

พีธากร ศรีบุตรวงษ์
บางกอกฟอรั่ม

ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่ facebook : peethakorn