พักหลังๆ มีการพูดเรื่องจิตอาสา
การให้ การแบ่งปันกันมากขึ้น อาจเป็นสิ่งที่สะท้อนว่า สังคมกำลังต้องการการฉุดรั้งภาวะบางอย่างไม่ให้สุดโต่ง
ไปอีกด้าน ซึ่งเป็นด้านของการเห็นแก่ตัว เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ความแล้งน้ำใจไมตรี เป็นต้น
ฉันเองก็เข้ามาพัวพันกับกลุ่มคนที่ทำงานในเรื่องทำนองนี้อยู่บ้าง อีกทั้งตนเองก็มีความอยากและได้พยายาม
เสนอตัวเข้าไปเป็นอาสาสมัครในหลายๆ ที่ เท่าที่เวลาและโอกาสจะเอื้ออำนวย นั่นเพราะมองว่าเป็นหนทาง
ของการทำบุญอย่างหนึ่งที่เรียกว่า ‘ไวยาวัจจมัย’ (สละแรงกายเพื่องานส่วนรวม หรือคนที่ต้องการความช่วยเหลือ)
และอาจเพราะทำให้ตนเองรู้สึกว่ามีคุณค่ามากขึ้นด้วย แม้ทุกวันนี้จะไม่ได้รู้สึกว่า ตัวเองหายใจรดโลกไปวันๆ
ก็ตาม แต่สิ่งที่รบกวนจิตใจอยู่เสมอๆ ก็คือ ความคิดที่ว่า วันเวลาบนโลกใบนี้ของตัวเราไม่ได้ยาวนานนักและ
ตัวเองก็เกิดมาโดยที่ยังไม่ได้ทำสิ่งที่เป็นบุญกุศล หรือสิ่งที่เป็นประโยชน์มากเท่าที่ควร
นี่อาจถือเป็นความโลภอย่างหนึ่งก็ได้
สิ่งที่ตัวเอง ‘ให้’ ได้มากที่สุด คือกำลังแรงกาย
และความรู้คิดบางเรื่องบางราวที่อาจจะเป็นประโยชน์สำหรับงานบางอย่าง ซึ่งต้องให้เวลา ให้การรับฟัง
และให้คำปรึกษาแนะนำ อย่างน้อยก็ในฐานะที่เป็นคนอ่านมาก ฟังมาก อันเป็นนิสัยสันดานติดตัวไปแล้ว
ส่วนเรื่องทุนทรัพย์ไม่ต้องพูดถึง เพราะเป็นสิ่งที่หามาได้จำกัด แต่น่าแปลกที่ว่า มูลค่าของทรัพย์ที่ว่าน้อย
หรือจำกัดนั้น กลับทำให้เห็นคุณค่าของสิ่งที่หามาได้มากขึ้นกว่าก่อน ซึ่งมันนำไปสู่การรู้คิดที่จะ
ใช้อย่างระมัดระวัง รอบคอบ และอย่างใช้สติปัญญาใคร่ครวญมากกว่าเดิมเสียอีก ที่สำคัญคือ กลับยิ่ง ‘ให้’
ออกไปได้ง่ายขึ้นในแง่ของการแบ่งปัน เกื้อกูลผู้อื่น และทำให้เห็นว่าเมื่อยิ่งให้ ก็กลับยิ่งได้
มากกว่ายิ่งให้ ยิ่งร่อยหรอ
เมื่อพูดถึงการให้ ทำให้นึกถึงเรื่องเซนที่อ่านมาและรู้สึกประทับใจอย่างมาก คืองานเขียน
ของภิกษุณีชุนโด อาโอยาม่า (หนังสือเรื่อง งามอย่างเซน เมล็ดพันธุ์แห่งธรรม
จากมุมมองของผู้หญิง, สำนักพิมพ์เสมสิกขาลัย, ๒๕๔๙)
ในเรื่อง “สถานการณ์ของอีกคนหนึ่ง” ซึ่งในภาษาอังกฤษใช้คำว่า In another’s place
เรื่องมีอยู่ทำนองที่ว่า
หญิงชราคนหนึ่งเธอบอกว่า ไม่มีอะไรที่จะทำให้เธอมีความสุขมากไปกว่าการได้มาร่วมร้องเพลงสวด
ในคณะประสานเสียงที่วัด (แห่งหนึ่งในญี่ปุ่น) แต่วันหนึ่งเธอได้หายหน้าไป ดังนั้นในการซ้อม
ครั้งต่อมา ภิกษุณี (ผู้เขียนหนังสือ) จึงได้ถามเธอว่าเกิดอะไรขึ้น หญิงชราบอกว่า
“อ๋อ วันนั้นป้าก็พร้อมแล้วนะ และตอนที่กำลังเดินมาที่ประตูบ้าน ก็มีแขกคนหนึ่งมาหาพอดี
เธอถามป้าว่ากำลังจะออกไปข้างนอกพอดีหรือ ถ้าหากป้าตอบว่าใช่ เธอก็คงหันหลังและกลับบ้านไป
เมื่อคิดได้ว่าคงน่าสงสารมากทีเดียว ถ้าหากเธอมีปัญหาอยู่จนทำให้ต้องมาที่นี่ ป้าจึงตอบว่า ‘ไม่
เธอมาได้ถูกเวลาทีเดียว ฉันเพิ่งกลับเข้ามา เชิญเข้ามาข้างในก่อนสิ’ ดังนั้นเธอจึงเข้ามา
และป้าก็มาซ้อมไม่ได้นั่นแหล่ะ”
หลายครั้งเมื่อเจอเรื่องหรือเหตุการณ์บางอย่าง ที่ไม่ได้เจอด้วยตัวเอง ฉันมักย้อนถามตัวเองเสมอ
ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับตัวเอง อะไรคือปฏิกิริยาแรกที่เรามี ในกรณีเรื่องนี้ก็เช่นกันฉันสงสัยว่า
ตัวเองจะตอบไปว่าอย่างไร หรือแม้กระทั่งว่า เราเคยตกอยู่ในฐานะเดียวกับแขกผู้นั้น แล้วเจอเจ้าบ้าน
หรือคนที่เราไปหาด้วยมีปฏิกิริยากับเราเช่นไร ในฐานะผู้ต้อนรับ เราอาจบอกไปว่า
“เสียใจด้วยนะที่เธอมาตอนนี้ ฉันกำลังจะออกไปทำธุระพอดี มาวันหลังแล้วกัน”
หรือ “ฉันกำลังจะออกไปข้างนอก แต่ไม่เป็นไรหรอก ไปสายนิดหน่อยก็ได้”
แต่ไม่ว่าจะตอบอย่างไร มันก็มักให้ความรู้สึกว่า ล้วนเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางทั้งสิ้น
หรือไม่ก็มีอำนาจบางอย่าง เป็นต้น มาบีบบังคับ เช่น อาจจะเป็นความเกรงใจการรู้สึกว่าตนเองมีค่า
(คนอื่นเลยต้องการมาหา ต้องการมาขอความช่วยเหลือ) เรื่องนี้กระทบใจอย่างแรงเพราะการที่
หญิงชราตอบไปเช่นนั้น “ฉันเพิ่งกลับมา” เป็นการแสดงออกถึงการคิดถึงผู้อื่น หรือมองไปพ้น
จากตัวเอง ซึ่งฉันมองว่า นี่คือการให้อย่างแท้จริง เป็นการให้โดยปราศจากตัวตน